ทำไม .. รถชนแล้วตำรวจไม่ยอมมาช่วย ( ตอนที่ 1 )

รถชนยังไง ตำรวจไทยถึงจะยุ่งเกี่ยว ( ตอนที่ 1 )

ในขณะที่มุ่งหน้ากลับบ้านในคืนวันที่ฝนตกหนัก หนักเสียจนที่ปัดน้ำฝนไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ทุกคนต่างก็ใจจดใจจ่อที่จะถึงบ้านให้เร็วที่สุด แต่ปรากฎว่า รถชน ความรู้สึกแรกแน่นอน คือ เซ็ง ทำไมต้องมาชนเอาตอนนี้ แต่คุณอาจจะเซ็งยกกำลังสอง เมื่อคุณกับคู่กรณีไม่สามารถตกลงได้ว่าใครผิดหรือถูก และเมื่อต่างฝ่าย ต่างมีกำลังเสริม คือเมื่อพนักงงานเคลม ซึ่งซิ่งมอเตอร์ไซต์ หัวเปียกฝนมายังที่เกิดเหตุ ข้อสรุปก็ยังคงไม่ได้เกิดขึ้น เพราะลักษณะการชนกล้ำกลึ่งและมีการเคลื่อนย้ายรถจากจุดเกิดเหตุแล้ว คุยกันไปคุยกันมาก็ตกลงกันไม่ได้ซักที ในขณะที่ฝนกำลังเบาลงแต่อุณหภูมิความร้อนของคู่กรณีกลับเพิ่มสูงขึ้น พนักงานเคลมบริษัทเที่ยงตรงประกันภัยก็กระซิบบอกว่าคุณสมร ลูกค้าวัย 30 ปลายๆ ว่า “ พี่ครับเป็นประมาทร่วมดีไหมครับ ต่างคนต่างซ่อม เพราะดูแล้วก้ำกึ่งจริงๆ น่าจะตกลงยาก “ คุณสมรตอบกลับทันที “ จะบ้ารึ ฉันก็เสีย ส่วนลดประวัติซิ นี่เธอไปรับเงินฝั่งนั้นมารึเปล่า “ พนักงานเคลมสะดุ้งโหยง พร้อมปฎิเสธ และสวนกลับไปทันทีว่า “ งั้นแล้วแต่พี่ครับ ” ซึ่งสุดท้ายส่วนใหญ่ผลก็จะลงเอยด้วย งั้นไปสถานีตำรวจ ด้วยความคาดหวังว่าตำรวจจะเป็นคนตัดสินปัญหาให้ได้ จะได้รู้กันไปว่าฉันนะถูก แกนะผิด แล้วทุกฝ่ายก็เคลื่อนที่ไปยัง สถานีตำรวจที่ใกล้เคียง ความคาดหวังของพี่สมร หายไปต่อหน้าต่อตา เมื่อร้อยเวรวัยละอ่อน บอกว่า “ กรุณาตกลงกันเองครับ ไม่งั้นผมจะทำเป็นประมาทร่วมแล้วปรับทั้งคู่ คนละ 500 บาท “ เสร็จแล้วร้อยเวรก็หันไปคุยกับอีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นกรณี รถเก๋งเฉี่ยวมอเตอร์ไซต์ล้ม จนคนซ้อนได้รับบาดเจ็บแทนด้วยความเจ็บแค้นที่ตำรวจไม่ให้ความร่วมมือ พี่สมรก็คิดในใจว่า เจ้าพนักงานเลือกปฎิบัติและละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
ใจเย็นครับพี่สมร มันมีเหตุผล ครับ คือว่าในกรณีของพี่สมรนั้น เป็นกรณีที่เกิดจากรถยนต์ชนกับรถยนต์ จะว่ากันตรงๆ ก็เรื่องความเสียหายของทรัพย์สิน และเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทนะครับ คือต้องไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย ไม่งั้นจะไปเข้าความผิดทำให้เสียทรัพย์ ส่วนกรณีนี้รถชนกันบนท้องถนนเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจเป็นเรื่องความประมาท แต่ฝ่ายใดเป็นผู้ประมาทก็ต้องดูจาก ลักษณะการชนครับ ในที่นี้เนื่องจากว่าลักษณะการชนก้ำกึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะจบลงด้วยการเป็นประมาทร่วม ตามที่น้องพนักงงานเคลมบอกนั้นแหละครับ ซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะจบกันได้ตั้งแต่ที่เกิดเหตุแล้ว ถ้าคู่กรณีตกลงกันได้ ตำรวจเขาไม่มายุ่งหรอกครับกรณีนี้ เพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องทางแพ่ง คือเป็นความเสียหายของทรัพย์สิน เอกชนต้องตกลงกันเองครับ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องเข้ามาตัดสินหรือดำเนินการให้ ถ้าเขาเข้ามายุ่งก็จะเป็นเหมือนที่ร้อยเวรบอกครับ ถ้าสรุปว่าฝ่ายไหนเป็นคนประมาท ก็ต้องเสียค่าปรับ แต่เป็นการเสียค่าปรับตาม พรบ.จราจรทางบกนะครับ แต่บางท่านที่อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไม เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงไปยุ่งกรณีรถเก๋งเฉี่ยวรถมอเตอร์ไซต์หละ กรณีนี้ไม่เหมือนกันครับ เอาไว้จะมาเล่าให้ฟังอีกทีคราวหน้า

ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ให้ดูที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบรรพ 2 ลักษณะ 5 เรื่องละเมิดครับ

มาตรา 420    ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 437    บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย นั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมาย ที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย

หมายเหตุ  2 มาตรานี้จะต่างกัน ตรงที่ มาตรา 437 ใช้ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งเป็นรถยนต์ แต่ อีกฝ่ายหนึ่งมิใช่รถยนต์ ครับ ( ผมพูดถึงแค่ในแง่รถยนต์ เท่านั้นนะครับ แต่จริงๆ แล้วมาตรานี้ครอบคลุมยานพาหนะ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล อื่นๆ ด้วย ) แต่ถ้าเป็นรถยนต์ทั้ง 2 ฝ่ายก็จะใช้มาตรา 420 ครับ