กรณีศึกษา ประกันตกแต่งร้านค้า (ตอนที่2)

****** เรื่องราวต่อจากเหตุการณ์คราวก่อน *****

เช้าวันรุ่งขึ้นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

ในขณะที่บันทิศขับรถมุ่งหน้าจะไปหาลูกค้าแถวนครชัยศรี เสียงโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดังขึ้น หน้าจอขึ้นชื่อคุณเก๋ พนังงานคนเก่งของห้างที่เขาเข้าไปพบเมื่อวานนี้ บันทิศยกหูรับสายทันที

“สวัสดีครับคุณเก๋ รู้ว่าผมมานครปฐม จะฝากซื้อส้มโอรึครับ” บันทิศ กล่าวแซวเล่นอย่างติดตลก

แต่สายปลายทางไม่เล่นด้วย แต่กล่าวกับมาว่า “งานเข้าแล้วค่ะ ข้างห้องพี่ดุสิตน้ำท่วม น้ำล้นเข้ามาทำให้ห้องพี่ดุสิตเสียหาย ทำยังไงดีคะ”

บันทิศ หายตลกในทันที “จริงซิครับ โดยปกติก็ต้องไปเรียกร้องจากห้องที่เกิดเหตุครับ ฝ่ายเราถือเป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้รับความเสียหาย แต่อย่างไรผมจะสอบถามทางประกันให้ก่อนนะครับ แล้วเดี่ยวช่วงบ่ายผมแวะเข้าไป”

เมื่อบันทิศ สอบถามทางประกันเสร็จ ก็โทรไปแจ้งคุณเก๋ว่า เดี๋ยวทางประกันจะเข้าไปพร้อมกับเขาตอนบ่าย 2 โมง

เมื่อเวลาบ่าย 2 โมงมาถึง ทุกฝ่ายก็พร้อมหน้ากัน ในอาคารที่เกิดเหตุ ประกอบด้วยพี่ดุสิต บันทิศ พนักงานจากบริษัทประกันภัย คุณเก๋ ผู้รับเหมาห้องเกิดเหตุ และก็เจ้าของห้องที่เกิดเหตุ

สรุปใจความได้ว่า ผู้รับเหมาหลักห้องที่เกิดเหตุ ( พี่แอ็ด ) ได้จ้างผู้รับเหมาช่วงเข้าไปตัดต่อระบบน้ำจากหัว Sprinkle ของตัวอาคาร แต่ด้วยการสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้ ยังไม่มีการเอาน้ำออกจากท่อ เมื่อหมุนหัว Sprinkle น้ำจำนวนมากจึงไหลออกมาและท่วมห้องที่เกิดเหตุ ขยายวงกว้างไปยังห้องข้างๆ และ ไหล่เอ่อ ออกมาหน้าห้องบริเวณทางเดิน

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ห้องที่เกิดเหตุ ไม่ได้ทำประกันภัยไว้ ทั้งที่ทางอาคารได้แจ้งไว้แล้วว่าต้องทำ

บรรยากาศภายในห้องจึงเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ทางพี่แอ็ดกล่าวปัดว่าไม่รู้เห็น เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ( แต่ในใจก็คิดว่า กำไรที่ได้จากรับเหมาเหมางานนี้ ยังไม่ถึง 20% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย ) ในขณะที่เจ้าของห้องเองก็ปัดความรับผิดชอบให้ตัวอาคาร สรุปการเจรจาในวันนั้นยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าใครต้องรับผิดชอบ

ภายหลังการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ พี่ดุสิตก็เดินมาหาบันทิศ ด้วยสีหน้าสีตาที่ตื่นตระหนก และถามว่า “น้องๆ อย่างงี้พี่จะเรียกร้องกับใครหละ แล้วถ้างานพี่ไม่เสร็จตามกำหนด ส่งมอบงานไม่ทันถูกปรับ ใครจะรับผิดชอบ พี่ทำพื้น ลงเฟอร์นิเจอร์ไปเรียบร้อยแล้ว มาโดนน้ำอย่างนี้ ไม้บวมหมด แถมพื้นก็เพิ่งลงไปยังไม่แห้งดีนัก…..”

บันทิศ รับฟังด้วยความเข้าใจ ( แต่ก็นึกในใจว่าโชคดีของพี่นะเนี่ยที่ทำประกันไปเมื่อวานนี้ ) พร้อมกับบอกไปว่า “เบื้องต้นพี่ช่วยสรุปตัวเลขความเสียหาย ที่เกิดขึ้นให้กับผมหน่อยครับ แล้วผมจะคุยกับทางประกันให้ ว่าจะช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหน” หลังจากนั้นต่างฝ่ายก็แยกย้ายกันกลับ

2 วันหลังจากเกิดเหตุ ดุสิต ก็ส่งมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมายังบันทิศ รวมมูลค่าทั้งหมด เกือบสองแสนบาท

รายละเอียดความเสียหายประกอบไปด้วยค่าแรงที่ต้องใช้คนในการซ่อมแซม ค่าวัสดุ ค่าดำเนินการผู้รับเหมา และที่เป็นตัวเลขสูงสุดคือ ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจของร้านค้า ซึ่งคิดมาวันละ 10,000 บาท

“พี่ครับเบื้องต้นผมต้องบอกก่อนว่าความเสียหายทางธุรกิจคงไม่อยู่ในความคุ้มครองนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่คำนวนเป็นตัวเงินชัดเจนไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการประมาณการของแต่ละคน และการตกลงระหว่างคู่สัญญา ซึ่งทางประกันถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ควบคุมไม่ได้ จึงไม่คุ้มครอง ส่วนรายการอื่นๆ ผมจะตอบกลับอีกทีนะครับ” และแล้ว บันทิศ ก็รีบนำสรุปตัวเลขส่งให้ทางบริษัทประกันทันที

หลังจากนั้นไม่นานบริษัทประกันก็แจ้งมาทางบันทิศ ว่าให้ขอ B.O.Q. (Bill of Quantities/บัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา ซึ่งก็คือเอกสารหนึ่งของเอกสาร ประกวดราคา ) กับทางผู้รับเหมาเป็นเอกสารเพิ่มเติม บันทิศจึงติดต่อพี่ดุสิต เพื่อให้ส่งมอบเอกสารดังกล่าวทันที

และแล้ววันนั้นก็มาถึง บริษัทประกันโทรเข้าหาบันทิศเพื่อแจ้งว่าได้สรุปตัวเลขสินไหมเบื้องต้นแล้ว

“คุณบันทิศ นี่ผม วิชา นะครับ … ตกลงพอได้ตัวเลขเบื้องต้นค่าสินไหมเคสคุณดุสิตแล้วนะ”

“ครับพี่ ดีเลย ทางลูกค้าก็ร้อนใจอยู่เหมือนกัน ตกลงได้เท่าไหร่ครับ” บันทิศตอบกลับด้วยความอยากรู้

“ในส่วนของค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ผมให้ตามที่ขอมานะ เพราะถือว่าเป็นความเสียหายจริงที่เป็นตัวเงิน แต่ค่าเสื่อมอุปกรณ์ ค่าดำเนินการผู้รับเหมา และค่าเสียหายทางธุรกิจ ผมคงต้องตัด เพราะไม่อยู่ในความคุ้มครอง

สรุปตัวเลขที่ได้ 90,000 บาท แต่ในความเป็นจริงลูกค้าประกันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เพราะจาก B.O.Q. ที่ส่งมามูลค่างานจริงๆ อยู่ที่ 1,200,000 บาท แสดงว่าทำเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ดังนั้นเราจ่ายให้เพียง 30,000 บาท

แต่ต้องหัก ความเสียหายส่วนแรก ( Deduct ) ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์มูลค่า 50,000 บาทด้วย ซึ่งก็จะทำให้ไม่เหลือมูลค่าที่จะจ่ายเพื่อสินไหม แต่บริษัทจะอนุโลมช่วยที่ 10,000 บาท

เมื่อบันทิศ ได้ยินก็ตกใจและเอ่ยขึ้น ทันทีว่า “พี่วิชา ครับ ผมว่าตัวเลขเท่านี้ทางผู้เสียหายรับไม่ได้แน่ๆ มันต่ำมากเลยนะครับ พี่ก็คงเข้าใจนะครับว่า คนส่วนใหญ่มักอยากจะทำประกัน โดยจ่ายเบี้ยให้ต่ำที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นในเรื่องข้อมูลเป็นไปได้ที่ลูกค้าจะให้ข้อมูลตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าพี่เอากฏเกณฑ์ มาบังคับใช้เต็มที่แบบนี้ ผมว่าไม่น่าจะเกิดผลดีกับใครนะครับ ยังไงตัวเลขเท่านี้ผมก็คงยอมไม่ได้ ” บันทิศ ทุบโต๊ะความไม่พอใจ

พี่วิชา จึงบอกกับบันทิศว่า “คุณต้องไปอธิบายเงื่อนไข และ หลักเกณฑ์ ให้ลูกค้าฟังเสียก่อน เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยเมื่อเกิดเหตุการณ์ในอนาคต ลูกค้าจะได้มีความเข้าใจมากขึ้น และธุรกิจประกันภัยจะได้มีบรรทัดฐานเพราะทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างรู้ถึงสิทธิ หน้าที่ ของตนตามกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนเรื่องตัวเลขเท่าไหร่ เดี๋ยวมาคุยกันอีกทีว่าจะช่วยกันตรงไหนได้บ้าง”

เมื่อได้ยินประโยคทองคำ ประโยคนี้ บันทิศ ก็ฟังด้วยความเข้าใจ และเห็นด้วยในเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจ

***** เหตุการณ์จะเป็นเช่นไรโปรดติดตามตอนจบ ได้ที่ https://www.kstronginsure.com/knowledge/read/107/?sort=date