การประกันความรับผิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย

ประกันความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย ประกันความรับผิดสินค้า หรือที่เรียกกันเต็มๆ ว่า ประกันความรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เป็นประกันที่ออกมารองรับ พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ปี 2551 ซึ่งเป็นแนวโน้มในอนาคตที่จะให้ความคุ้มครองต่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการมากขึ้น

กฎหมายฉบับนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของผู้ประกอบการ เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายเนื่องจากสินค้าของตนเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยและทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทก็ตาม และเป็นกฎหมายที่ให้รับผิดอย่างเคร่งครัด โดยหน้าที่ในการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่ได้กระทำผิด

นอกจากนั้นคำว่าผู้ประกอบการก็ครอบคลุมเป็นวงกว้างคือจะหมายถึงตั้งแต่ ผู้ผลิต หรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าได้ ผู้ใช้ชื่อ ชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้า ซึ่งถ้ามาดูในส่วนที่หมายถึงความไม่ปลอดภัยในตัวสินค้า ก็ตั้งแต่ ความบกพร่องในการผลิต ความบกพร่องในการออกแบบ หรือแม้กระทั่ง คำเตือน วิธีใช้ วิธีเก็บรักษาที่ไม่เพียงพอ ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน โดยถ้าผู้บริโภคสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้รับความเสียหายจากสินค้าของผู้ประกอบการและการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติ

จากข้อมูลเบื้องต้น ย่อมเห็นว่าผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและบริการนั้น มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจจะหมายถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่อาจจะมีเข้ามาโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งมีปริมาณการขายมากเท่าใด การควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการก็ต้องมีมากขึ้น มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นความเสี่ยงที่มีเป็นเท่าทวี

ดังนั้นกรมธรรม์ประกันความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์อันเกิดจากความรับผิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย จึงเกิดขึ้นมารองรับความเสี่ยงตรงประเด็นนี้สำหรับผู้ประกอบการ โดยมีขอบเขตความคุ้มครองคือ

ความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องมาจากสินค้าที่เอาประกันก่อให้เกิด
– ความสูญเสียต่อ ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย ของผู้เสียหาย
– ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เสียหาย
– ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี

แต่เนื่องจากการประกัน ประเภทนี้ยังใหม่มากสำหรับประเทศไทย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่าตนมีสิทธิตากกฎหมายที่ออกมา ดังนั้นในด้านการประกันสำหรับประกอบการที่มีความประสงค์จะทำประกันประเภทนี้ จึงต้องมีการกรอกแบบฟอร์ม เพื่อเป็นการให้ข้อมูลของตน ให้ทางบริษัทประกันได้รับทราบ เพื่อที่จะได้คำนวณเบี้ยประกันและ ขอบเขตของความคุ้มครองได้อย่างเหมาะสม เพราะประเภทของสินค้า มูลค่าของยอดขาย ขอบเขตของการขายสินค้า วัสดุอุปกรณ์ในการผลิต มาตราฐานการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ย่อมมีผลโดยตรงต่อการกำหนดเบี้ยประกันภัย ซึ่งทางผู้ประกอบการควรให้รายละเอียดที่ชัดเจนและถูกต้อง เพราะจะทำให้เบี้ยประกันเป็นไปตามความเป็นจริง นอกจากนั้นกรมธรรม์ก็จะสามารถคุ้มครองหรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ( โดยผู้ที่สนใจสามารถ Loaded แบบฟอร์ม ได้ )