การเคลมรถ

การเคลมรถแบบไม่มีคู่กรณี

การเคลมแบบไม่มีคู่กรณีนี้จะสามารถเคลมได้กับรถยนต์ที่ประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 1 เท่านั้น การประกันรถประเภทอื่นๆ ไม่สามารถเคลมสีรถยนต์ในกรณีเช่นนี้ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมื่อเกิดเหตุแล้วผู้เอาประกันจะไม่เรียกพนักงานเคลมมาเปิดเคลมเลย แต่จะมาเปิดเคลมอีกทีภายหลัง เมื่อผู้เอาประกันต้องการซ่อมรถ ในทางประกันจึงเรียกกันอีกชื่อว่าการเคลมแห้ง คำว่ามีคู่กรณีในที่นี้หมายถึงบริษัทประกันสามารถไปเรียกเก็บค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่ผู้ประกันเป็นฝ่ายถูก หรือ ต้องชดใช้ให้แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ในกรณีที่ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด เนื่องจากเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและมีการชนกันไม่ว่าจะเป็นรถยนต์กับรถยนต์ หรือชนกับสิ่งอื่นที่เกิดจากบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ในทางประกันจะต้องมีการสรุปผลว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ซึ่งฝ่ายที่ผิดท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ดังนั้นในกรณีที่มีคู่กรณีจึงต้องมีการแจ้งประกันทุกครั้งเพื่อให้ขั้นตอนของการชดใช้ค่าเสียหายดำเนินไปได้ การที่ไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้จึงทำให้ผู้ประกันต้องมีการจ่ายค่าส่วนร่วมเนื่องจากไม่ทราบคู่กรณี แต่ในกรณีที่การเกิดอุบัติเหตุเกิดจากตัวผู้ขับขี่ฝ่ายเดียว ไม่เกี่ยวกับความประมาทหรือเกิดจากหรือเกิดร่วมกับบุคคลอื่น จึงถือเป็นการเคลมแบบไม่มีคู่กรณี ซึ่งการเคลมลักษณะนี้จะถือว่าผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด

โดยวิธีการเคลมแบบไม่มีคู่กรณีนี้ โดยปกติมี อยู่ 3 วิธี

1. การนัดทำเคลมกับพนักงานเคลม คือผู้เอาประกันแจ้งความประสงค์ไปที่บริษัทประกันว่าต้องการทำเคลม ทางบริษัทประกันจะส่งพนักงานเคลมออกมาทำการเปิดเคลม ซึ่งอาจจะนัดเปิดเคลมในสถานที่ซึ่งผู้เอาประกันสะดวกไม่ว่าจะเป็นบ้านพักหรือที่ทำงาน โดยพนักงานจะออกใบเคลมให้เพื่อนำรถเข้าซ่อม หรืออาจนัดเปิดเคลมที่ศูนย์บริการ หรือที่อู่ ที่ต้องการซ่อมรถ เพื่อที่จะสามารถนำรถเข้าซ่อมได้เลย โดยการเปิดเคลมพนักงานเคลมก็จะถามว่าแต่ละแผลเกิดเหตุวันใด สถานที่เกิดเหตุคือที่ไหน ลักษณะการเกิดเหตุเป็นอย่างไร โดยแผลบางแผล หรือการตอบคำถามบางอย่าง อาจนำมาซึ่งการเสียส่วรร่วมได้ เช่นถ้าบอกว่าไปเบียดกับรถคันอื่นมา ก็เท่ากับว่าเสียส่วนร่วมเนื่องจากไม่มีคู่กรณี ดังนั้นแนะนำว่าก่อนการเปิดเคลมผู้เอาประกันควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับการให้ข้อมูล เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

2. บางบริษัทประกันให้สิทธิ์ศูนย์ หรืออู่ทำหน้าที่ในการเปิดเคลมให้ลูกค้าได้เลย ซึ่งก็ถือว่าสะดวกกับทางลูกค้ามาก เพียงแต่ตำแหน่งที่จะเปิดเคลมได้ในกรณีนี้อาจจะไม่มากชิ้นนัก และลักษณะแผลก็ต้องชัดเจน เช่นมีการเบียดเสามาจริงๆ แต่ถ้าแผลกล้ำกลึ่ง บางทีศูนย์หรืออู่อาจจะไม่กล้าเปิด หรือเปิดให้แต่อาจมีส่วนร่วมตามมาทีหลังได้

3. การเปิดเคลมทางโทรศัพท์ คือผู้เอาประกันต้องโทรเข้าไปที่บริษัทประกัน โดยแจ้งตำแหน่งของรถที่ต้องการเปิดเคลม เช่นกันชนหน้า ต้องบอกเวลา สถานที่ และลักษณะการเกิดเหตุ โดยต้องมีการแฟกซ์ใบขับขี่เข้าไปให้บริษัทประกันด้วย โดยทางบริษัทประกันจะแฟกซ์หรือเมล์ ใบเคลมให้กลับมาเช่นกัน โดยผู้ที่เป็นเจ้าของใบขับขี่ ต้องเซ็นต์ชื่อตัวเองในช่องที่อยู่ในแบบฟอร์มนั้น แล้วนำใบเคลมนี้เข้าไปที่อู่ โดยบริษัทประกันจะส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายราคาเข้าไปตรวจรถ ว่ารายละเอียดของแผลที่แจ้งทางโทรศัพท์ ตรงกับแผลที่ปรากฎบนตัวรถหรือไม่ ซึ่งก็เป็นที่มาของส่วนร่วมได้เช่นกันถ้าเข้าเงื่อนไขของการเก็บส่วนร่วม