ทำไม .. รถชนแล้วตำรวจไม่ยอมมาช่วย ( ตอนที่ 2 )

รถชนยังไง ตำรวจไทยถึงจะยุ่งเกี่ยว ( ตอนที่ 2 )
จากเรื่องราวตอนที่แล้ว ที่พี่สมร แค้นใจว่าทำไม ร้อยเวรจึงไม่สนใจกรณี รถของพี่สมร ชน แต่กลับไปให้ความสำคัญกับกรณี รถเก๋งเฉี่ยวมอเตอร์ไซต์ จนพี่สมรคับแค้นใจ น้อยใจ ฝังใจ และ ตั้งใจ จะเอาเรื่องร้อยเวร ในความผิดฐานเลือกปฎิบัติหน้าที่และ
ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่

แต่เดี๋ยวก่อนครับ เรากลับไปดูเหตุการณ์ตอนที่แล้วอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อร้อยเวรวัยละอ่อน บอกพี่สมรว่า “ กรุณาตกลงกันเองครับ ไม่งั้นผมจะทำเป็นประมาทร่วมแล้วปรับทั้งคู่ คนละ 500 บาท “ เสร็จแล้วร้อยเวรก็หันไปคุยกับอีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นกรณี รถเก๋งเฉี่ยวมอเตอร์ไซต์ล้ม จนคนซ้อนได้รับบาดเจ็บแทน
สังเกตุไหมครับ ว่ากรณีหลัง มีอะไร ใช่แล้วครับกรณีหลัง มีคนเจ็บ ซึ่งแตกต่างกับกรณีของพี่สมรซึ่งเป็นกรณี รถยนต์ชนกันธรรมดาครับ แล้วทำไม เมื่อมีคนเจ็บ ตำรวจจึงต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ตอบได้เลยว่าต้องยุ่งครับ เพราะเป็นกรณีของคดีอาญา เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเข้าไปดำเนินการครับ ถ้าไม่ทำจะเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ครับ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มีการบัญญัติ ความผิดและโทษ กรณีที่กระทำโดยประมาท และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ตามความรุนแรงมากน้อยต่างกัน

ดังนั้นในกรณีที่มีรถขนกัน รถชนคน แล้วมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำหน้าที่เจ้าพนักงาน สอบสวน เพื่อหาสาเหตุและหาผู้กระทำความผิดครับ เพราะถือเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อย รัฐจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินงาน ไม่สามารถปล่อยให้เอกชนตกลงกันเองได้ครับ

ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ให้ดูที่ ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท

มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี

อันตรายสาหัสนั้น คือ

(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ยี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน