ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ทำไมเรียกเอากับบริษัทประกันภัยเราไม่ได้

หลายท่านคงจะเคยสงสัยว่า เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ รถของเราถูกชนและเราเป็นฝ่ายถูกนั้น นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถเราแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ อีก เช่น ค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางในขณะที่เรานำรถเข้าซ่อม หรือที่เรียกกันว่า “ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม” นั้น  เราสามารถเรียกร้องได้ไหม ?

คำถามนี้คุณคงหาคำตอบได้ไม่ยากจากกระทู้ต่างๆ ที่มีมากมายใน Internet ..

ใช่ครับ เราสามารถเรียกร้องได้ แต่ต้องเรียกร้องกับทางคู่กรณีที่เป็นต้นเหตุ ถ้าทางคู่กรณีมีประกันภัยก็เรียกกับบริษัทประกันภัยของคู่กรณี

หลายๆ ครั้งมีคำถามจากลูกค้าว่า ทำประกันรถยนต์ประเภท 1 ทำไมไม่ให้เบิกกับบริษัทประกันภัยของเราเลย หรือทำไมบริษัทประกันภัยของเราไม่ไปดำเนินการเบิกค่าขาดประโยชน์นี้ จากคู่กรณีให้ ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ อธิบายที่มาที่ไปนะครับ

ประเด็นแรกเลย ที่มาที่ไป ที่ทำให้สามารถเรียกร้อง “ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม ” มาจากอะไร

ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ค่าสินไหมทดแทน” ตามมูลละเมิด ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ปพพ. มาตรา 420  บัญญัติว่า  “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

ตัดเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนี้ ก็จะเป็นข้อความด้านบน  สรุปเป็นใจความที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ใครก็ตามที่ประมาท และทำให้ทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย ผู้นั้นก็ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ดังนั้นใครมาชนรถเรา แล้วทำให้เรามีค่าใช้จ่ายใดๆ เกิดขึ้น เขาก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้น

ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่เราต้องจ่ายไป กฎหมายจึงให้สิทธิ์เราไปเรียกร้องคืนจากคู่กรณีได้

ประเด็นต่อมา แล้วทำไมเราจึงต้องไปเรียกร้องกับบริษัทประกันของคู่กรณี

จริงๆ แล้ว คนที่มีหน้าที่จ่ายสินไหมส่วนนี้ก็คือ คู่กรณีที่ขับรถมาชนเรานั้นแหละครับ แต่ถ้าคู่กรณีมีการทำประกันภัยไว้ ตัวกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณีนี่เองที่ทำให้ บริษัทประกันภัยมีหน้าที่ต้องเข้ามารับผิดชอบความเสียหายที่คู่กรณีเป็นผู้ก่อแทน เราจึงสามารถไปเรียก ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม กับบริษัทประกันภัยของคู่กรณีได้แทน โดยวิธีการคำนวณ ว่าจะจ่ายที่เท่าใด ก็คิดง่ายๆ ว่า ค่าใช้จ่ายในการหายานพาหนะทดแทนอยู่วันละเท่าใด เช่นระหว่างรถซ่อมเราต้องเช่ารถมาใช้หรือใช้บริการรถแท็กซี่ ส่วนใหญ่ก็จะเหมาเป็นรายวัน เช่น 500 บาทต่อวัน  ( แต่บริษัทประกันจะให้เท่าไหร่ก็ขึ้นกับการต่อรองนะครับ )  แล้วก็มาดูจำนวนวันที่รถซ่อม เช่น 5 วัน ในกรณีนี้ก็คือคิดคร่าวๆ ก็ได้ว่า 500 * 5 = 2,500 บาท

ประเด็นต่อมา แล้วทำไมต้องไปเรียกร้องเอง ทำไมบริษัทประกันภัยของเราไม่จัดการให้ อันนี้ขอชี้แจงเป็นข้อๆ ดังนี้นะครับ

เหตุผลแรกเลยคือ ในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นประเภท 1 ประเภท 2+ ,3+ หรือประเภทใดก็แล้วแต่ ไม่มีความคุ้มครองในเรื่องของ “ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม” ครับ นอกจากว่าเราจะซื้อเพิ่มเติมนะครับ ( ในบางบริษัทประกันภัยอาจออกแบบกรมธรรม์ให้สามารถซื้อความคุ้มครองส่วนนี้เพิ่มเติมไปในกรมธรรม์ได้ แต่จะคุ้มหรือไม่ ก็ต้องตัดสินใจเองนะครับ เพราะโอกาสที่จะเกิดกรณีแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าบ่อยนัก ) ดังนั้นในแง่บริษัทประกันภัยของเรา ในเมื่อรถคันที่เอาประกันเป็นฝ่ายถูก ดังนั้นบริษัทประกันภัยจึงไม่ต้องจ่ายสินไหมในส่วนของ “ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม” เพราะในกรมธรรม์ไม่ได้ขยายความคุ้มครองตัวนี้ เบี้ยประกันภัยก็ไม่ได้คิดความคุ้มครองในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะให้บริษัทประกันภัยของเราจ่ายค่าสินไหมส่วนนี้มาก่อน แล้วค่อยไปเรียกเก็บจากคู่กรณีจึงเป็นไปไม่ได้เลย

เหตุผลต่อมาก็คือ เรื่องขอบเขตของหน้าที่และสิทธิ์ ตามกฎหมายของบริษัทประกันภัย ตามหลักของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้น แน่นอนเวลาที่มีค่าใช้จ่ายตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น ซึ่งอาจจะจ่ายโดยลูกค้าไม่ต้องสำรองจ่ายก่อนเลย เช่นนำรถเข้าซ่อมอู่ในเครือ หรือลูกค้าต้องสำรองจ่ายก่อนบ้าง เช่น รถไปติดอุปกรณ์ตกแต่งมา อาจจะเป็นสเกริต์ เวลาเสียหายจึงต้องกลับไปซ่อมที่ร้านเดิม ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันภัย ทางผู้เอาประกันจึงต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วไปเบิกคืน แต่โดยรวมเมื่อบริษัทประกันภัยได้จ่ายสินไหมให้กับทางเราครบถ้วนแล้ว ในทางประกันภัยยังไม่จบเท่านี้นะครับ ถ้ากรณีที่มีผู้กระทำความผิดซึ่งสามารถไปเรียกร้องได้ บริษัทประกันก็จะรับช่วงสิทธิ์จากลูกค้า เพื่อไปไล่เบี้ยคืนจากผู้กระทำความผิดครับ แต่สิทธิ์ที่จะไปไล่เบี้ยได้ก็ต้องเป็นสิทธิ์ตามกรมธรรม์นะครับ ดังนั้นในกรณีนี้ เนื่องจากในกรมธรรม์รถยนต์ฝ่ายถูก ไม่ได้คุ้มครองถึงค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ บริษัทประกันฝ่ายถูกจึงไม่มีสิทธิ์รับช่วงสิทธิ์เพื่อไปไล่เบี้ยกับคู่กรณีในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นในเรื่องระบบการบริหารจัดการภายในบริษัทประกันภัยก็ไม่ได้ออกแบบสำหรับส่วนนี้  โดยปกติเมื่อพนักงานเคลมทำเคลมเรียบร้อยแล้ว คนที่มารับหน้าที่ต่อก็คือ ฝ่ายราคา ฝ่ายสินไหม ฝ่ายบัญชีทำจ่าย ซึ่งจะลงบัญชีอย่างไร ในเมื่อในกรมธรรม์ไม่มีความคุ้มครองค่าสินไหมประเภทนี้ในกรณีที่รถเอาประกันเป็นฝ่ายถูก ทุกอย่างถูกออกแบบมาเป็นระบบ เพื่อให้แต่ละฝ่ายหน้าที่ที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ ถ้าให้พนักงานเคลมทำโดยไม่ต้องผ่านระบบบริษัทประกันภัย  ลองนึกภาพดูว่าพนักงานเคลมซึ่งส่วนใหญ่ จะใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน คงไม่สะดวกนักที่จะต้องมาประสานงานหรือติดตามเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมกับคู่กรณี

ดังนั้นเจ้าของรถฝ่ายถูก อาจต้องออกแรงเองหน่อยนะครับ สำหรับการเรียกร้อง “ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม”  และหวังว่าคงเห็นภาพรวมพร้อมเหตุผลที่มาที่ไปของกรณีการเรียกค่าสินไหมประเภทนี้กันแล้วนะครับ