เหตุผลดีๆ ที่คนเราต้องทำประกันภัย

ภาพรวมประกันอุบัติเหตุที่คุณต้องรู้

ประกันอุบัติเหตุ

ในปัจจุบันนี้รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมากมาย ด้วยเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า และการคมนาคมที่เชื่อมต่อทุกส่วนเข้าด้วยกัน  ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนและรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ของผู้คน เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อกิจกรรมมากขึ้น แน่นอนความเสี่ยงจากอุบัติเหตุก็ย่อมมีมากขึ้นด้วย เมื่อมีความเสี่ยง มีอุบัติเหตุ มีหรือที่ประกันภัยจะไม่มีกรมธรรม์มาเพื่อคุ้มครองเหตุร้ายนี้ กรมธรรม์ประกันภัยที่ว่านี้ก็คือ กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ( Personal Accident ) 

ซึ่งให้ความคุ้มครองเหตุร้ายที่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ

โดยเนื้อหาส่วนนี้ เราจะอธิบายแบบกว้างๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมกันก่อนนะครับว่า ประกันตัวนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร ..

ความหมายของอุบัติเหตุ  

ความหมายของคำว่า อุบัติเหตุ ที่ใช้ในกรมธรรม์นี้ก็คือ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกาย และทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง”  ซึ่งสามารถแยกได้เป็นองค์ประกอบของคำว่า “อุบัติเหตุ” ตามนี้คือ

  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
  • จากปัจจัยภายนอกร่างกาย
  • ส่งผลให้เกิดขึ้น โดยผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง

ดังนั้นองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อนี้ต้องครบ ถึงจะเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองอุบัติเหตุ

ส่วนเงื่อนไขในการทำประกันภัยกรมธรรม์อุบัติเหตุก็คือ

  1. อายุ โดยทั่วไปของผู้ที่จะเอาประกันอยู่ระหว่าง 16 – 60 ปี ( ในกรมธรรม์ของบางบริษัทประกันก็ให้ประกันอายุเกิน 60 ปีได้ แต่เบี้ยประกันภัยก็จะสูงขึ้น )
  2. ในด้านสุขภาพ ต้องไม่มีอวัยวะส่วนใดพิการหรือบกพร่อง
  3. เป็นการประกันแบบไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ต้องไม่มีโรคประจำตัว
  4. การจำแนกความเสี่ยงของการประกันภัยจะแบ่งจาก อาชีพ ของผู้เอาประกันภัย
    • ความเสี่ยงต่ำ คือทำงานด้านบริหาร ทำงานประจำในสำนักงาน พนักงานขายประจำในร้านค้า ทำงานฝีมือที่ไม่มีเครื่องจักร
    • ความเสี่ยงระดับปานกลาง ผู้บริหาร หรือ พนักงานที่ทำงานนอกสถานที่เป็นครั้งคราว ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ตลอดเวลา เช่นวิศวกร
    • ความเสี่ยงในระดับสูง ผู้ปฏิบัติงานด้านช่างที่มีเครื่องจักรหนัก ผู้ใช้แรงงาน พนักงานส่งเอกสาร

ความคุ้มครองของการประกันอุบัติเหตุ

จะแยกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบ อบ.1 และ อบ.2 โดยจะมีความคุ้มครองที่เหมือนและแตกต่างกันคือ

  1. คุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิต ซึ่งจะมีเหมือนกันทั้ง แบบ อบ.1 และ อบ.2
  2. คุ้มครองในกรณีที่สูญเสีย อวัยวะและสายตา
    • อบ.1 คุ้มครอง มือ เท้า สายตา
    • อบ.2 คุ้มครอง มือ เท้า โดยนับตั้งแต่ ข้อของนิ้ว / สายตา / หูหนวก และ เป็นใบ้ โดยในการจ่ายสินไหมของการสูญเสียอวัยวะนั้น จะดูว่าปริมาณของการสูญเสียมากน้อยเพียงใด เช่น นิ้ว 1 ข้อ หรือ นิ้ว 2 ข้อ เป็นนิ้วชี้ หรือ นิ้วหัวแม่มือ ในกรมธรรม์จะมีการกำหนดค่าสินไหม เป็นเปอร์เซ็นต์ สำหรับการสูญเสียนั้นๆ
  3. คุ้มครองในส่วนของการทุพพลภาพ โดย อย่างแรกขอขยายความ คำว่าทุพพลภาพประเภทต่างๆ ก่อน ซึ่งจะใช้การจำแนกโดยดูจากความสามารถในการทำหน้าที่หรืออาชีพ ในชั่วระยะเวลา หรือตลอดไป อันได้แก่

ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หมายถึง ทุพพลภาพถึงขาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆในอาชีพประจำหรืออาชีพอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิง เช่น อาจถูกรถชนจนทำให้เป็นอัมพาต ไม่สามารถขยับตัวได้เลย

ทุพพลภาพถาวรบางส่วน หมายถึง ทุพพลภาพถึงขาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆในอาชีพประจำตลอดไป แต่ทำงานอื่นเพื่อสินจ้างได้  เช่น เดิมทำอาชีพคนงานก่อสร้าง แต่พลาดตกลงมาจากที่สูง ทำให้กระดูกสันหลังยุบและแตก เมื่อรักษาตัวแล้ว ก็ไม่สามารถยกของหนัก หรือใช้แรงมากๆ ได้อีกต่อไป จึงต้องเปลี่ยนไปขายลอตเตอรี่แทน

ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง หมายถึง ทุพพลภาพถึงขาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆในอาชีพประจำหรืออาชีพอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิง ชั่วระยะเวลาหนึ่ง  เช่นมีอาชีพพนักงานขับรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็ทำให้ขาบาดเจ็บ ต้องเข้าเฝือก ทั้ง 2 ข้าง ทำให้ในช่วงการรักษาตัวไม่สามารถทำหน้าที่คนขับรถได้ เมื่อรักษาหายปกติแล้วจึงกลับไปทำตามเดิม

ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน หมายถึง ทุพพลภาพถึงขาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆในอาชีพประจำตามปกติบางส่วนในชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือไม่สามารถจะประกอบหน้าที่การงานใดๆในอาชีพประจำตามปกติ ได้ครบทุกส่วนใน ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่นมี อาชีพพนักงานส่งเอกสาร เกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซต์คว่ำ ต้องเข้าเฝือก ทั้ง 1 ข้าง ทำให้ในช่วงการรักษาตัวไม่สามารถทำหน้าที่ส่งเอกสารได้ แต่ก็มาทำหน้าที่จัดเอกสารในสำนักงานแทน  เมื่อรักษาหายปกติแล้วจึงกลับไปทำตามเดิม

สำหรับความคุ้มครองในส่วนนี้ที่แตกต่างกันระหว่าง อบ.1 และ อบ.2 คือ

  • อบ.1 จะคุ้มครองกรณีการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุพพลภาพชั่วคราวสินเชิง และ ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน
  • อบ.2 นอกจากจะคุ้มครองตาม อบ.1 แล้ว ยังเพิ่มคุ้มครองกรณี ทุพลภาพถาวรบางส่วน ด้วย
  1. คุ้มครองกรณีที่มีค่ารักษาพยาบาล ในบางกรมธรรม์ที่ต้องการให้เบี้ยประกันราคาถูก ก็อาจจะไม่มีความคุ้มครองในส่วนนี้ โดยจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบบกรมธรรม์นั่นเอง

ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ

เนื่องจากการประกันภัยอุบัติเหตุนั้น จะมุ่งให้ความคุ้มครองที่เป็นความเสี่ยงภัยพื้นฐานของคนโดยทั่วไปเท่านั้น
ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่จะไม่คุ้มครองในเหตุการณ์บางอย่าง โดยจะแยกเป็น

สาเหตุที่ไม่คุ้มครอง อันได้แก่

  1. การ กระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา สารเสพติด หรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
  2. ฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง
  3. การได้รับเชื้อโรค เว้นแต่การติดเชื้อโรค หรือบาดทะยัก หรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งเกิดจากบาดแผลที่ได้รับมาจากอุบัติเหตุ
  4. การ รักษาทางเวชกรรมหรือศัลยกรรม เว้นแต่ที่จำเป็นจะต้องกระทำเนื่องจากได้รับบาดเจ็บ ซึ่งได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยนี้ และได้กระทำ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
  5. การแท้งบุตร
  6. การรักษาฟัน การรักษารากฟัน การเปลี่ยนหรือใส่ฟันปลอม เว้นแต่การรักษาพยาบาลเบื้องต้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
  7. การ ปวดหลัง อันมีสาเหตุมาจาก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเลื่อน กระดูกสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังอักเสบ และภาวะเว้นแต่มี การแตกหัก หรือเคลื่อนของกระดูกสันหลังอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
  8. สงคราม (ไม่ว่าจะประกาศหรือไม่ก็ตาม) การรุกราน หรือการกระทำของศัตรูต่างชาติ สงครามกลางเมือง การปฏิวัติ การกบฏ การที่ประชาชนก่อความวุ่นวาย ถึงขนาดลุกฮือขึ้นต่อต้าน รัฐบาล การจราจล การนัดหยุดงาน
  9. อาวุธ นิวเคลียร์ การแผ่รังสี หรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือจากกากนิวเคลียร์ใดๆ อันเนื่องมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และ กรรมวิธีใดๆ แห่งการแตกแยกตัวทางนิวเคลียร์ซึ่งดำเนินการติดต่อกันไปโดยตัวของมันเอง

ยกเว้นความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้

  1. ขณะ ที่ผู้เอาประกันภัยล่าสัตว์ในป่า แข่งรถหรือแข่งเรือทุกชนิด แข่งม้า เล่นหรือแข่งสกีทุกชนิด แข่งสเก็ต ชกมวย โดดร่ม (เว้นแต่การโดดร่มเพื่อรักษาชีวิต) ขณะกำลังขึ้นหรือกำลังลง หรือโดยสารอยู่ในบอลลูน หรือเครื่องร่อน เล่นบันจี้จั๊มพ์ ปีนหรือไต่เขาที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยดำน้ำที่ต้องใช้ถังอากาศและเครื่อง ช่วย หายใจใต้น้ำ
  2. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยขับขี่ หรือโดยสารจักรยานยนต์
  3. ขณะ ที่ผู้เอาประกันภัยกำลังขึ้นหรือกำลังลง หรือขณะโดยสารอยู่ในอากาศยานที่มิได้จดทะเบียนเพื่อบรรทุก ผู้โดยสาร และมิได้ประกอบการโดยสารการบินพาณิชย์
  4. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยขับขี่หรือปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานประจำอากาศยานใดๆ
  5. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท
  6. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยก่ออาชญากรรม หรือขณะที่ถูกจับกุม หรือหลบหนีการจับกุม
  7. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยปฏิบัติหน้าที่เป็น ทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัครและเข้าปฏิบัติการในสงคราม หรือปราบปราม แต่หากการเข้าปฏิบัติการนั้นเกิน 30 วัน บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัย ตั้งแต่ระยะเวลาที่เข้าปฏิบัติการสงคราม หรือปราบปรามนั้น จนถึงวันสิ้นสุดการปฏิบัติการนั้น ส่วนหลังจากนั้นให้กรมธรรม์มีผลบังคับ ต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัยที่กำหนดไว้ในตาราง

สำหรับข้อยกเว้นที่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ คือ

– การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์

– การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น การดำน้ำ การเล่นบันจี้จั๊มพ์ เล่นสกี การแข่งรถ แข่งเรือ แข่งสเก็ต เป็นต้น

– ขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์

นี่คือภาพรวมคร่าวๆ ของกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ที่เราอยากให้คุณเข้าใจ โดยน่าจะเป็นอีก 1กรมธรรม์ที่จะมาช่วยตอบสนองการดำเนินชีวิตของคุณ  ให้ลื่นไหลและท้าทายมากขึ้นครับ ..