ความสามารถ ในการยอมรับความเสี่ยง ในแต่ละช่วงอายุของคน

การยอมรับความเสี่ยง ในแต่ละช่วงอายุของคน

การลงทุน เป็นเรื่องที่บุคคลให้ความสำคัญแตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เขามีความเข้าใจเรื่องการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นระดับความสามารถในการรับความเสี่ยง ก็จะเป็นตัวบอกได้ด้วยว่า บุคคลผู้นั้นจะให้น้ำหนักในการลงทุนมากน้อยเพียงใด และจะมีการจัดสรรสัดส่วนไปลงในสินทรัพย์แต่ละประเภทอย่างไร

ช่วงอายุของคน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถบอกได้ถึงระดับความสามารถในการรับความเสี่ยง โดยมีการแบ่งช่วงอายุ ออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

1 | ช่วงอายุวัยหนุ่มสาว ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ถือเป็นช่วงของการสะสม ( Accumulation Phase ) มีรายได้ยังไม่มากนักแต่สม่ำเสมอ เนื่องจากอายุยังน้อยจึงมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้สูง เพราะความรับผิดชอบยังไม่มากนัก และ ยังมีโอกาสแก้ตัวได้ถ้าลงทุนผิดพลาด การใช้จ่ายก็จะเป็นการตอบสนองความต้องการระยะสั้น เช่นซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือการลงทุนเพื่อเก็งกำไร มากกว่าการหวังผลตอนแทนที่คงที่สม่ำเสมอ ดังนั้นการลงทุนส่วนใหญ่ก็จะให้น้ำหนัก การลงทุนในตราสารทุน เช่นหุ้น หรือตราสารอนุพันธ์ ต่างๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องมีการลงทุนเพื่อสะสมความมั่นคงในระยะยาว เช่น การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ( RMF ) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

 

2 | ช่วงวัยกลางคน ซึ่งมีหน้าที่การงานมั่นคง รายได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ความรับผิดชอบสูงขึ้น แต่ภาระหนี้สินเริ่มลดลง ส่งผลให้มีรายได้ส่วนเกิน จึงถือเป็นช่วงระยะมั่นคง ( Consolidation Phase ) ความสามารถในการลงทุนจึงมีมาก แต่เนื่องจากมีอายุที่มากขึ้น และมีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจึงน้อยลง นอกจากนั้นต้องเริ่มคิดถึงชีวิตหลังวัยเกษียณ ดังนั้นการลงทุนควรเน้นการลงทุน ที่ให้ผมตอบแทนสม่ำเสมอและมีความเสี่ยงต่ำ เพื่อรักษาเงินต้นไม่ให้สูญ โดยอาจให้น้ำหนักในการลงทุน ตราสารหนี้ พวกพันธบัตรรัฐบาล ทรัสต์เพื่อการลงทุนที่ลงทุนในสิทธิการเช่าของอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ มากกว่าการลงทุนในตราสารทุน ไม่ว่าจะลงทุนโดยตรงผ่านการซื้อหุ้นสามัญ หรือผ่านกองทุนตราสารทุนต่างๆ

 

3 | ช่วงวัยหลังเกษียณอายุ เป็นช่วงที่มีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงต่ำสุด เนื่องจากโอกาสในการหารายได้เพิ่มน้อย บางทีต้องนำเงินสะสมในวัยทำงานมาใช้จ่าย หรือนำเงินบำเหน็จบำนาญ  จากกองทุนประกันสังคมมาใช้ และในขณะเดียวกันก็พร้อมจะส่งต่อทรัพย์สินให้กับลูกหลานต่อไป จึงถือเป็นช่วงระยะอุทิศ ( Gifting Phase ) การลงทุนในช่วงนี้จึงต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่ปกป้องค่า ไม่ให้ลดลง โดยผลตอบแทนอาจไม่สูงมากนัก แต่ได้อย่างสม่ำเสมอและไม่ลดค่าเงินต้น โดยสามารถเอาชนะภาวะเงินเฟ้อได้ เช่นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ต่างๆ

” ดังนั้นในการวางแผนการลงทุน ว่าจะแบ่งสัดส่วนในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแต่ละประเภทมากน้อยแตกต่างกันอย่างไรนั้นจึงต้องคำนึงถึงช่วงอายุของชีวิตควบคู่ไปด้วย ”