อยากทำประกัน ร้านค้า โกดังเก็บสินค้า ต้องรู้อะไรบ้าง

อยากทำประกันร้านค้า โกดังเก็บสินค้า ต้องรู้อะไรบ้าง

แม้ว่าการซื้อขายผ่านออนไลน์กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้ แต่ใช่ว่าการมีร้านค้า หรือหน้าร้าน จะหมดเสน่ห์ไปเสียเลย ร้านค้ายังคงเป็นสถานที่หลักในการนำลูกค้าเข้าร้านแต่การเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ก็เป็นสิ่งจำเป็น

ซึ่งนอกจากจะมีหน้าร้านแล้ว บางครั้งเราอาจจะมีโกดังเก็บสินค้าด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่ามูลค่าของสินค้าที่เก็บไว้ทั้งที่ร้านหรือโกดังเก็บสินค้านั้น รวมๆ กันแล้วก็เป็นเงินจำนวนมหาศาล เมื่อเทียบกับทรัพย์สินอื่นที่เรามี โดยความเสียหายของสต็อกสินค้านั้น นอกจากจะเสียหายด้วยไฟไหม้ได้แล้ว หลายๆ ครั้งมันก็สามารถเสียหายจากสาเหตุอื่นๆได้อีกด้วย เช่น น้ำท่วม ลมพายุ

วันนี้เราจะบอกหลักในการทำประกันภัยร้านค้า หรือโกดัง ที่จำเป็นให้คุณทราบ เพื่อคุณจะได้กรมธรรม์ประกันภัยที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงสัญญาที่เป็นกระดาษแต่ไม่สามารถเคลมได้อย่างเต็มที่ โดยการประกันร้านค้าในที่นี้หมายความถึงประกันร้านค้าต่างๆ ที่ขายสินค้าทั่วๆไป และรวมไปถึงการทำประกันร้านอาหารทุกประเภทด้วยนะครับ

โดยหลักในการทำประกันร้านค้าหรือโกดังนั้น ต้องเริ่มจาก

1.ต้องรู้ก่อนว่า ทรัพย์สินในการทำประกันแบ่งเป็นอะไรบ้าง โดยหมวดหมู่ในการทำประกันภัย ร้านค้าหรือโกดังจะแบ่งเป็น

  • สิ่งปลูกสร้าง
  • เฟอร์นิเจอร์
  • สต็อกสินค้า

แต่ในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง ในบางครั้งผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเจ้าของตัวอาคาร คือเช่าอาคารมาอีกทีหนึ่ง ในประเด็นนี้สำหรับการทำประกันภัยก็ต้องดูว่า ในสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ามีการบังคับให้ทำประกันหรือไม่ ถ้ามีการกำหนดไว้ แนะนำให้ทำประกันตัวอาคารแยกออกมาแล้วระบุให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผลประโยชน์ หรืออาจจะทำรวมกับทรัพย์สินของเราเป็นกรมธรรม์เดียว แต่ระบุให้ชัดเจนว่า นาย…… ( ผู้ให้เช่า ) รับผลประโยชน์ในส่วนของตัวอาคารเท่านั้น แต่ถ้าสัญญาเช่าไม่มีการบังคับให้ทำประกัน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะทำประกันร้านค้า โดยรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ แต่อย่าลืมนะครับว่าถ้าเกิดโชคร้ายอัคคีภัยจากความผิดของผู้เช่าแล้วตัวอาคารเสียหาย สุดท้ายผู้ให้เช่าก็ต้องมาเรียกร้องความเสียหายจากผู้เช่าอยู่ดีครับ ซึ่งถ้าเราทำประกันสิ่งปลูกสร้างไว้ก็จะช่วยได้ครับ

2.ทำความเข้าใจในแต่ละหมวดของทรัพย์สิน และ ระบุรายละเอียดทรัพย์สิน ให้ครบถ้วนในคำจำกัดความของทรัพย์สินประเภทนั้นๆ

  • สิ่งปลูกสร้าง ในที่นี้ หมายถึงตัวอาคาร ( ไม่รวมฐานราก ) รวมส่วนที่ต่อเติมอาคาร กำแพง รั้วประตู ป้อมยาม ที่จอดรถ
  • เฟอร์นิเจอร์ ในที่นี้จะรวมถึง สิ่งติดตั้งตรึงตรา ชั้นวางของ เครื่องรับเงิน หรืออื่นๆ ซึ่งเราสามารถใช้คำรวมๆ ได้ว่าอุปกรณ์ในการประกอบการ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ป้ายต่างๆ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่เรามี
  • สต็อกสินค้า ในส่วนของสต็อคสินค้า อย่ากำหนดโดยใช้เพียงคำว่าสินค้าอย่างเดียวนะครับ เพราะจะหมายถึงสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น ให้ระบุลงไปเลยว่า วัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต สินค้า และ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ถ้าเป็นร้านอาหารก็ต้องระบุถึงเครื่องปรุงรส และเครื่องดื่มทุกชนิด ด้วยนะครับ นอกเหนือจากนี้ในบางครั้งสินค้าบางอย่างลูกค้าอาจจ่ายเงินเราแล้วแต่รอแค่การขนส่ง หมายความว่ากรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของได้โอนย้ายไปยังคนซื้อแล้วเราเป็นเพียงผู้ดูแลเก็บรักษาก่อนส่งมอบ ดังนั้นก็ต้องขยายความคุ้มครองไปถึง สินค้าที่ผู้เอาประกันดูแลในฐานะผู้รักษาทรัพย์ด้วยนะครับ

3.กำหนดมูลค่าทรัพย์สินแต่ละประเภทของเราให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยในทางประกันภัย ในส่วนของตัวอาคารจะมีวิธีคำนวณว่าทุนประกันควรเป็นเท่าใด แต่ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ และสต็อกสินค้า อาจต้องใช้ตัวเลขทางบัญชีมาช่วยส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่าทรัพย์สินบางอย่างเมื่อถือครองมาระดับหนึ่ง อาจถูกหักค่าเสื่อมจนหมดมูลค่า ตามการคิดทางบัญชี แต่ในทางประกันภัยจะไม่เป็นเช่นนั้นจะคิดจากหลักที่ว่าถ้าซื้อทรัพย์สินชนิดนี้ ในอายุการใช้งานที่เท่ากัน สเปคเดียวกัน จะต้องซื้อมาในราคาเท่าใดหรือพูดง่ายๆ ว่าราคามือสองในทรัพย์สินที่มีลักษณะเดียวกันคือเท่าใด โดยการกำหนดทุนประกันแต่ละประเภททรัพย์สินนี้ ต้องกำหนดอย่างน้อยไม่ให้ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าที่แท้จริง มิเช่นนั้นอาจทำให้การประกันของเรา Undervalue ได้ ซึ่งจะเกิดผลเมื่อมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องได้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

4.ดูความเสี่ยงภัยที่เรามี นอกเหนือจากความคุ้มครองไฟไหม้ ในบางครั้งด้วยสภาพแวดล้อม หรือปัจจัยอื่นๆ ของตัวอาคารอาจทำให้ความเสี่ยงบางภัยของเราเพิ่มขึ้นมามากกว่าปกติ เช่น ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ต่ำ หรือตั้งอยู่โดดเดี่ยวในพื้นที่โล่งแจ้ง ก็อาจเสี่ยงกับความเสียหายจากภัยลมพายุหรือภัยน้ำท่วม , ตั้งอยู่ในซอยลึก ก็อาจเสี่ยงกับการถูกโจรกรรม ถ้าหน้าร้านประกอบด้วยกระจก ก็ควรมีความคุ้มครองความเสียหายของตัวกระจก ซึ่งความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ เราก็ต้องดูและคิดให้ละเอียด เพราะถ้าเกิดเหตุแล้วไม่มีความคุ้มครอง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่คุ้มกันกับการที่เราเพิ่มค่าเบี้ยอีกเพียงเล็กน้อย การเลือกความคุ้มครองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

5.เลือกแบบกรมธรรม์และบริษัทประกันให้เหมาะกับความต้องการที่เรามี ซึ่งปัจจุบันหลายๆ บริษัทประกันภัยได้จัดความคุ้มครองออกมาเป็น แพ็คเกจ แตกต่างกันไป ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับความคุ้มครองที่เราต้องการ โดยอย่าลืมว่าในกรมธรรม์ประกันภัยนั้นจะมีเนื้อหาต่างๆ ทั้งในส่วนของความคุ้มครอง เงื่อนไขและข้อยกเว้น ดังนั้นเราต้องศึกษาหรืออ่านเอกสารให้ละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันภัย เพราะส่วนนี้คือส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทำประกันภัยได้เลย

” อย่าลืมนะครับว่าที่เราต้องการทำประกันภัย เพราะเราห่วงทรัพย์สินของเรา ต้องการให้ทรัพย์สินของเรานั้นได้รับความคุ้มครอง จากเหตุร้ายและความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นอย่าให้ความสำคัญกับเบี้ยประกันภัยว่าต้องถูกที่สุด โดยไม่สนใจว่าความคุ้มครองจะเป็นอย่างไร บริษัทประกันอะไร เพราะกว่าคุณจะรู้ว่าสายเกินไปก็เมื่อคุณต้องเรียกร้องความเสียหายนั่นเอง “

ท่านสามารถดูเนื้อหาในรูปแบบ VDO ได้ ที่นี้ K.strong Youtube การประกันร้านค้า

ด้านล่างคือตัวอย่างความเสียหาย ที่ เค.สตรองค์ ฯ ดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมกับบริษัทประกันภัยให้กับลูกค้าของเรา

CLICK เลย => ร้านเวดดิ้งสตูดิโอเรียกร้องความเสียหายจากลมพายุ

CLICK เลย => ร้านอาหารเรียกร้องความเสียหายจากไฟไหม้

CLICK เลย => โรงงานสีเรียกร้องความเสียหายจากไฟไหม้

สนใจทำประกันร้านค้า ประกันร้านอาหาร ประกันโกดัง สามารถติดต่อเราได้ เพราะเรามีประสบการณ์โดยตรงในการประกันภัย เราสามารถให้บริการและแนะนำได้เมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหม

TEL : 02-848-9858-9 , Mobile 083-246-3599 , Line@ @k.strong ,

Email : [email protected]