ไฟไหม้ประกันจ่าย ใช่ว่าจะจบ ..

ไฟไหม้ประกันจ่าย ใช่ว่าจะจบ

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 63 ที่ผ่านมา ลูกค้าของผมรายหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกค้ากันมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อของผม และต่อเนื่องกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ได้เกิดเพลิงไหมบ้าน ซึ่งเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งย่านบางกระบือ

ปรากฏว่าผลจากเพลิงดังกล่าว บ้านหลังนี้เสียหายทั้งหลัง ( Total Loss )  และความเสียหายก็ลาม ต่อเนื่องไปยังบ้านข้าง ๆ อีก 2 หลังที่ติดกันด้วย ในส่วนของการทำประกัน เนื่องจากเป็นการทำประกันต่อเนื่องกันมายาวนาน ทุนประกันจึงถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ 20 ปีก่อน และเนื่องจากลูกค้าเป็นผู้สูงอายุ การอธิบายเพื่อให้ปรับทุนประกันเพิ่มขึ้นตามมูลค่าที่เปลี่ยนไปจึงเป็นเรื่องยาก เพราะตัวลูกค้าไม่ต้องการจ่ายเบี้ยประกันสูงขึ้น

ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ทุนประกันอยู่ที่ 6 แสนบาท ( ทั้งที่มูลค่า ณ ปัจจุบัน คำนวณได้ ประมาณ  3 ล้านบาท ) คือ Under Value อยู่จำนวนมาก แต่เนื่องจากเคสนี้เป็นความเสียหายแบบ Total Loss จึงต้องมาดูเรื่องค่าเสื่อมประกอบอีกทีหนึ่งว่า จะเคลมได้เต็มทุนประกันหรือไม่ ?

ซึ่งผลปรากฏออกมาว่า หลังจากคำนวณทุกอย่างและดูเงื่อนไขครบหมดแล้ว สามารถเคลมได้เต็มจำนวนคือ 600,000 บาท โดยลูกค้าก็พอใจ และได้รับค่าสินไหมไปตั้งแต่ กลางเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านแล้ว ดังนั้นหน้าที่ผม ในทางประกันภัยก็น่าจะจบลงแล้ว

แต่ด้วยแรงดึงดูดบางอย่างระหว่างผมกับลูกค้า ลูกค้าโทรหาผมอีกครั้งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ขอให้ไปช่วยที่สถานีตำรวจ เนื่องจากร้อยเวร โทรมาแจ้งว่าผลพิสูจน์หลักฐานออกแล้ว ต้องการนัดให้ฟังผล พร้อมกับคู่กรณีคือบ้านข้างๆ ที่ได้รับความเสียหายอีก 2 หลัง ผมรับปาก พร้อมกับคิดในใจว่าประเด็นปัญหาและความเสียงที่ลูกค้าจะเจอคืออะไร และก็แอบหวังว่าขอให้ผลพิสูจน์หลักฐานออกมาดี

ในวันนัดหมาย ผมเดินทางไปช้าเล็กน้อย แต่ก็กำชับทางคุณป้า ซึ่งเป็นลูกค้าว่าอย่าเพิ่งเข้าไปจนกว่าผมจะไปถึง เมื่อเข้าไปในสถานีตำรวจ ปรากฏว่าคู่กรณีและสารวัตรได้นั่งรออยู่แล้ว และช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นก็มาถึง คือการเปิดซองผลพิสูจน์หลักฐาน ( ความรู้สึกที่ป้ามี คงลุ้นพอๆ กับผมตอนเปิดซองผล Entrance เมื่อ 20 กว่าปีก่อน 555 ) ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะถ้าผลชี้ว่าเพลิงไหม้ เกิดจากความประมาทของป้า เท่ากับว่าป้าจะต้องรับโทษทางอาญา ตาม ปอ.ม.225

“มาตรา 225 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และต้องรับผิดชอบในทรัพย์สินที่เสียหายของข้างบ้านด้วย ซึ่งหลังแรกเสียหายเล็กน้อย ประมาณ 5 หมื่นกว่าบาท แต่หลังที่สอง แม้จะมีการทำประกันไว้ แต่ก็เป็นการทำประกันต่ำกว่าทุนมาก ประกันจึงชดใช้ให้เพียงประมาณ 6 หมื่นบาท จากความเสียหายทั้งหมดเกือบ 2 แสนบาท

โชคดีมากที่ผลพิสูจน์หลักฐานไม่สามารถชี้ชัดการเกิดเหตุได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด ลงเพียงว่าต้นเพลิงเกิดที่ด้านหลังฝั่งซ้ายของบ้าน  ซึ่งเป็นตำแหน่งของห้องน้ำ สารวัตรจึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจากผลการพิสูจน์หลักฐาน ในทางอาญาจึงไม่สามารถดำเนินการต่อได้และให้เป็นเรื่องของคู่กรณีที่ต้องตกลงกันเอง

ผมปล่อยให้ผู้เสียหายทั้ง 2 ราย ระบายทุกอย่างออกมาอย่างเต็มที่ และดูทีท่าเขา ว่าเขาคิดและต้องการอะไร หลังจากนั้นผมขอตัวพาป้าออกไปข้างนอกเพื่อพูดคุยส่วนตัว ก่อนที่จะกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ผมใช้มาตราการของรัฐ Social distance อย่างเคร่งครัด ( ไม่ได้กลัวติดโควิด แต่กลัวถูกชกแว่นแตก!!!  ) ก่อนที่จะเปิดการเจรจาแบบตรงไปตรงมา ว่าประกันภัยที่ป้าทำนั้นคุ้มครองเพียงบ้านของป้า ไม่ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งในกรณีนี้ผลพิสูจน์หลักฐานก็ออกมาแล้วว่า ไม่ได้เกิดจากความผิดของป้าและถือเป็นเหตุสุดวิสัย การนั่งคุยกันในครั้งนี้ ถ้าป้าจะจ่ายเงิน ก็เป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือและการเยียวยา ไม่ใช่การรับผิดชอบจากการกระทำความผิด และยิ่งกว่านั้นตัวป้าเองก็ถือเป็นผู้ได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งเงินที่ป้าได้รับจากบริษัทประกันภัยก็ไม่มากนัก ดังนั้นการจะช่วยเหลือในครั้งนี้คงเป็นการช่วยบางส่วน

แน่นอนคู่กรณีทั้ง 2 คน แสดงความไม่พอใจออกมาอย่างเห็นได้ชัด เสียงเริ่มดัง สีหน้าจริงจัง ผมเว้นระยะห่างออกมาอีกนิดเพื่อสวัสภาพของตัวเอง หลังจากนั้นจึงต้องใช้เหตุผล และ อธิบายข้อกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดเข้าใจ ในขณะที่สารวัตร นั่งฟังเป็นพยานอยู่ข้างๆ

ในที่สุดก็จบลงได้ด้วยดี โดยช่วยเหลือ 25,000 บาท สำหรับรายแรก และ 60,000 บาท สำหรับรายที่สอง มีการบันทึกประจำวัน เพื่อจบคดี

ในวันนั้นผมจึงขับรถกลับที่ทำงานพร้อมคำขอบคุณจากป้าและแซนวิชอีกหลายชิ้นที่ป้าทำมาให้….

ปัจจุบันนี้การเรียกร้องความเสียหายจากบ้านต้นเพลิง ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้เสียหายและบริษัทประกันที่รับช่วงสิทธิ์ถือปฏิบัติกัน ซึ่งในทางประกันภัยก็มีความคุ้มครองหมวดความรับผิดบุคคลภายนอก ที่จะมาช่วยบรรเทาค่าชดใช้ในเคสต้นเพลิงมีความผิดตามกฎหมาย แต่หลายๆ ครั้ง ผู้เอาประกันภัยก็ยังไม่เห็นความสำคัญและไม่ต้องการจ่ายเบี้ยเพิ่ม ซึ่งว่ากันแล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง รับประกันได้ว่าเบี้ยที่คุณต้องจ่ายเพิ่มมันคุ้มค่าแน่นอน

 

ลองชมคลิปวิดีโอที่อธิบายถึงภาพรวมของ ประกันอัคคีภัย เพิ่มเติม ซึ่งจัดทำโดยทีมงาน เค.สตรองค์ฯ

หากท่านสนใจ หรือ มีแผนว่าจะทำประกันอัคคีภัย ประกันไฟไหม้

สามารถติดต่อเราได้ เพราะเรามีประสบการณ์โดยตรงในการประกันภัยด้านนี้มามากกว่า 10 ปี

สามารถให้คำปรึกษา บริการ รวมถึงคำแนะนำที่ดีให้กับท่านได้

TEL : 02-848-9858-9 , Mobile 083-246-3599 , Line@ @k.strong

Email : [email protected]