ประกันความรับผิดบุคคลภายนอก อีกหนึ่งความคุ้มครองที่ร้านค้าต้องมี ( ข้อควรระวังในการทำประกันภัย )

สำหรับบทความนี้จะรวมข้อควรระวัง  ซึ่งเป็นทั้งเงื่อนไข และ ข้อยกเว้น ในการทำประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ที่สำคัญสำหรับร้านค้าและธุรกิจ เพราะบางข้อมีผลเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหม ดังนั้นการรู้และเข้าใจเงื่อนไข และ ความคุ้มครองย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย

  1. ระบุลักษณะกิจการหรือธุรกิจ ให้ครบถ้วนครอบคลุม คือต้องระบุลักษณะของธุรกิจให้ครบ เพื่อให้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ครอบคลุมถึง เช่น เราทำธุรกิจร้านอาหารชั้นล่าง ชั้นบนเป็นสำนักงาน ปรากฏว่ามีพนง.ส่งเอกสารของลูกค้า มาเหยียบน้ำที่พื้นลื่นล้มลงในส่วนที่เป็นสำนักงาน ถ้าเราระบุลักษณะธุรกิจว่าเป็นเพียงร้านอาหาร ก็อาจจะเกิดปัญหาตอนเคลมได้ ดังนั้นในกรณีนี้ ก็ควรระบุลักษณะของธุรกิจว่า ร้านอาหารและสำนักงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน
  2. กรมธรรม์ประเภทนี้ มีความรับผิดส่วนแรกสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอก ดังนั้นก็ควรสังเกตเงื่อนไขตรงนี้ให้ดีและต่อรองกับบริษัทประกันภัย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงจนเกินไป จนไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้เลย
  3. กรมธรรม์ประเภทนี้ ไม่ได้คุ้มครองความรับผิดที่เกิดจากสินค้าหรือสิ่งของ ที่ผู้เอาประกันภัยผลิต ขาย จัดหา ซ่อมแซม บริการ พูดง่ายๆ คือ ถ้าสินค้าที่ขายหรือให้บริการ ไปทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย เช่น เราเป็นโรงงานผลิตหม้อหุงข้าว ปรากฏว่าหม้อหุงข้าวที่ลูกค้าซื้อจากเราเกิดไประเบิดขณะที่ลูกค้าใช้งานแล้วทำให้ลูกค้าได้รับบาดเจ็บ ในกรณีนี้กรมธรรม์ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก จะไม่ได้คุ้มครอง ผู้เอาประกันภัยต้องไปซื้อ “กรมธรรม์ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย” (product liability insurance) จึงจะตรงและครอบคลุมกับกรณีนี้
  4. ไม่คุ้มครองกรณี ความเสียหายหรือสูญหายของบุคคลภายนอก อันเกิดจาก งานก่อสร้าง บำรุงรักษา ซ่อมแซม ต่อเติม รื้อถอน ไม่ว่าจะเป็นอาคารหรือต้นไม้
  5. ไม่คุ้มครองกรณี ความเสียหายหรือสูญหายของบุคคลภายนอก อันเกิดจากการทุจริต การฉ้อโกง ของผู้เอาประกันภัย หรือผู้กระทำการแทนผู้เอาประกันภัย
  6. ไม่คุ้มครองการสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ เจ็บป่วย อนามัยของ
  • เจ้าของ กรรมการ หุ้นส่วน
  • พนักงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ระหว่างการทำงาน หรือ
  • บุคคลที่ปฏิบัติงานตามสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้เอาประกันภัย
  • บิดา มารดา บุตร คู่สมรส หรือญาติของผู้เอาประกันภัยที่พักร่วมกันในสถานที่เอาประกันภัยหรือ
  • บุคคลที่อยู่ร่วมกันกับผู้เอาประกันภัยซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงหรืออ้อมกับกิจการของผู้เอาประกันภัยดังที่ระบุในกรมธรรม์
  1. ไม่คุ้มครองความเสียหายของทรัพย์สินของ บุคคลส่วนใหญ่ในข้อ6 ด้านบนด้วย
  2. ข้อนี้ก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะกรมธรรม์ประเภทนี้ไม่ได้คุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายต่อบุคคลภายนอก อันมีสาเหตุมาจาก เครื่องจักรที่ใช้ในการยกเช่น ฟอร์คลิฟท์ เครน เครื่องชักรอก นอกจากจะมีระบุชัดเจน ให้ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ ดังนั้นถ้าธุรกิจของคุณมีเครื่องจักรประเภทนี้ก็ต้องระบุให้ชัดเจนในกรมธรรม์ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่เราคัดมาให้ เพราะคิดว่ามีความสำคัญที่ท่านใดที่สนใจทำประกันประเภทนี้ ควรรู้

อย่างที่ย้ำมาโดยตลอด ว่า “การประกันภัยไม่ใช่ทำแล้วจะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้ทุกอย่าง มันคือสิ่งที่เราเข้าใจผิดไปเอง กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภทมีเนื้อหาของเงื่อนไข ความคุ้มครอง และข้อยกเว้น ที่ชัดเจนอยู่แล้ว แตกต่างกันไป เราอาจจะไม่ต้องรู้ต้องเข้าใจทั้งหมด แต่อย่างน้อยถ้าเราเข้าใจหลักการ และมีความรู้ในกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนั้นๆบ้าง เราก็จะสามารถเลือกซื้อประกันได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น”

สนใจติดต่อขอข้อมูล ขอคำปรึกษา หรือซื้อประกันภัย ติดต่อที่