การประกันสินค้าในโกดังที่ ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า ตอนที่ 1

การประกันสินค้าในโกดังที่-ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า-ตอนที่-1

หลังๆ มานี้ มีลูกค้าที่ทำธุรกิจโกดัง ติดต่อผมเข้ามาจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือ มีกลุ่มหนึ่งที่ประกอบธุรกิจโกดัง แต่เขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าในโกดังเลย โดยมีหน้าที่เก็บรักษาและบริหารจัดการ รวมทั้งจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของเขา ซึ่งเป็นร้านค้า เมื่อมีลูกค้าสั่งของเข้ามา จึงมีความน่าสนใจในหลายๆ จุด สำหรับการทำประกันภัย ซึ่งต้องคิดให้ละเอียดและระมัดระวังมากกว่า ธุรกิจโกดังที่เป็นเจ้าของสินค้าเอง

ประเด็นในทางประกันภัยที่ต้องคิดคือ

  1. ความมีส่วนได้เสียกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

ในกรณีนี้ ผู้ประกันภัยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สินค้า แต่มีความเกี่ยวพันกับสินค้าในฐานะผู้ดูแลครอบครองรักษาทรัพย์ นอกจากนั้นเมื่อสอบถามรายละเอียดในสัญญา ผู้เอาประกันภัยก็มีหน้าที่ต้องชดใช้ เจ้าของสินค้าในกรณีที่เกิดความเสียหายจากสินค้าด้วย ดังนั้นในประเด็นของส่วนได้เสียกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจึงสามารถจัดการได้ โดย

  • ระบุในคำจำกัดความของทรัพย์สิน ในส่วนของสต็อกสินค้า ว่าให้รวมถึงสต็อกสินค้าที่ผู้เอาประกันภัยดูแลในฐานะผู้ครอบครองและดูแลรักษาทรัพย์
  • ในส่วนของเอกสารแนบท้ายขยายความคุ้มครอง Special Clause ให้นำ อค./ทส. 1.59  Property Under Care Custody and Control มาติดเพิ่มเติมแนบกับกรมธรรม์หลัก โดยเอกสารแนบท้ายตัวนี้ ได้ขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่ อยู่ภายใต้การดูแล รักษา หรือควบคุม ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบตามกฎหมายนั่นเอง

  1. มูลค่าทุนประกันภัย เป็นเรื่องยากที่เจ้าของโกดังที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า จะทราบมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า แต่หลักในการทำประกันภัยนั่น ทุนประกันที่ทำประกันภัยอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าที่แท้จริง มิเช่นนั้นจะถือว่าทำประกันต่ำกว่าทุน และผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนร่วมจ่ายสินไหมเอง เพราะถือว่าเป็นการประกันตัวเองบางส่วน ( Self Insurance ) โดยประเด็นที่ควรทราบสำหรับการกำหนดทุนประกันภัยคือ
  • ราคาสินค้าที่ประกันใช้ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน คือราคาทุน ไม่ใช่ราคาขาย ดังนั้นผู้เอาประกันภัยต้องนำราคาต้นทุนของสินค้ามาใช้ในการกำหนดเป็นทุนประกันภัยนั่นเอง
  • กำหนดเงื่อนไขในการชดใช้เจ้าของสินค้าให้ชัดเจน ในกรณีที่เกิดความเสียหายแล้วทางเจ้าของโกดังที่เป็นผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ เงื่อนไขในการรับผิดชอบยิ่งชัดเจน ก็จะทำให้กำหนดทุนประกันภัยได้ง่ายขึ้น

2 ประเด็นข้างต้น คือสิ่งที่เจ้าของโกดังควรรู้ ก่อนที่จะทำประกันภัย ทั้งนี้เพื่อให้ค่าเบี้ยประกันที่เสียไปเหมาะสมและคุ้มค่า และ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ในเวลาที่เกิดโชคร้ายต่อทรัพย์สินและต้องการค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัยเพื่อบรรเทาความเสียหายนั้น