การประกันสินค้าในโกดังที่ ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า ตอนที่ 2

จากตอนที่แล้ว ที่เราได้รู้แล้วว่าสำหรับผู้ประกอบการโกดัง ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า ต้องระมัดระวังและต้องรู้อะไรบ้างก่อนการทำประกันภัย ในบทความนี้จะเป็นการมองในมุมมองของ ฝั่งโบรคเกอร์และบริษัทประกันภัยบ้าง ว่า ปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญสำหรับการรับประกันภัย มีอะไรบ้าง

  1. ลักษณะอาคาร สิ่งที่บริษัทประกันจะให้ความสำคัญ คือ
    • โครงสร้าง ของตัวอาคาร ว่าทำจากวัสดุใด ถ้าทำจากวัสดุที่มีความไวไฟ และ ทนต่อภัยธรรมชาติ เช่น พื้นคอนกรีต ผนังปูน โครงหลังคาเหล็ก หลังคาเมทัลชีต การรับประกันก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะตัวอาคารมีความสมบูรณ์และปลอดภัย
    • จำนวนชั้น ของอาคาร ถ้าตัวอาคารมีชั้นเดียวและสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโกดังโดยเฉพาะ ข้อดีคือจะไม่ค่อยมีปัญหาที่เกิดจากน้ำภายในอาคาร เพราะท่อน้ำต่างๆ จะถูกฝัง หรือจัดวางในบริเวณที่เหมาะสม และห่างไกลจาก ตัวสินค้า แต่ถ้าอาคารมี หลายชั้น แต่ละชั้นมีห้องน้ำ ความเสี่ยงในเรื่อง ท่อน้ำรั่ว ท่อน้ำแตก และจะกระทบทำให้สินค้าที่เก็บเสียหายก็มีโอกาสและความเสี่ยงที่สูงกว่า
    • อายุการใช้งานของอาคาร ถ้าอายุการใช้งานนานก็ย่อมเสื่อมสภาพไปตามอายุ ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่าอาคารที่ผ่ายการใช้งานมาน้อยกว่านั่นเอง
  2. การจัดเก็บสินค้า ควรมีการจัดวางที่เป็นระเบียบ มีระยะห่างของสินค้าแต่ละประเภท การจัดวางต้องไม่สูงจนเกินไป และควรมีชั้นวางหรือพาเลท รองที่ที่ใต้สินค้า ไม่ใช่วางสินค้าติดกับพื้นเลย เพราะตัวพาเลทนอกจากจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าสะดวกและง่ายขึ้นแล้ว มันยังทำหน้าที่ช่วยลดความเสียหายของสินค้าจากภัยบางภัยด้วย เช่นภัยน้ำท่วม
  3. ประวัติการเคลมย้อนหลัง เป็นคำถามยอดฮิต ที่บริษัทประกันภัยจะถาม กลับไปยังลูกค้า ส่วนใหญ่จะดูกันย้อนหลัง 3 ปี เพื่อจะดูว่าที่ผ่านมามีการเคลมภัยอะไร เช่น ไฟไหม้ ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยลมพายุ แล้วต้นเหตุของการเกิดภัยได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง เช่นพายุพัดหลังคาเสียหาย หลังคาเสียหายเพราะ พายุพัดแรงมากกว่าปกติ หรือ เพราะหลังคาเสื่อมสภาพ และถ้าเป็นเพราะเหตุผลหลัง หลังคาได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหรือยัง , ความถี่ในการเกิดความเสียหายบ่อยแค่ไหน
  4. ในการทำประกัน มีการทำประกันตัวอาคารร่วมด้วยหรือไม่ หลายๆครั้งที่ ลูกค้าทำธุรกิจรับบริหารจัดการสินค้า มีความชำนาญและมี Application เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าที่ดี ทั้งการบริหารสต็อก และ ระบบการจัดส่ง แต่ไม่มีเงินลงทุนมากพอในการก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าเป็นของตัวเอง จึงต้องไปเช่าโกดังมาอีกทีหนึ่ง ดังนั้นในส่วนของการทำประกันอาคารโกดัง ก็ขึ้นกับว่าสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าระบุให้เป็นหน้าที่ผู้เช่าในการจัดการเรื่องประกันภัยไหม หรือ ผู้ให้เช่าจัดทำประกันภัยเอง ประเด็นคือถ้าตัวอาคารไม่จำเป็นต้องทำประกันเพราะมีการทำไว้แล้ว แสดงว่าในการประกันของลูกค้าครั้งนี้ก็จะมีเพียงส่วนของ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ในการประกอบการ และ สต็อกสินค้าเท่านั้น ซึ่งสต็อกจะเป็นส่วนที่มีมูลค่าสูงสุดในการทำประกันภัยนั่นเอง

ต้องบอกก่อนว่าการทำประกันภัย ที่มีแต่สต็อกสินค้า แต่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างด้วย บริษัทประกันภัยมองว่ามีความเสี่ยงสูง ในกรณีที่เกิดความเสียหาย และจากประวัติการเคลมในอดีต มูลค่าของความเสียหายก็สูงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะสต็อกสินค้า แม้ไม่ได้เสียหายจากไฟไหม้ แต่เมื่อถูกน้ำฉีดเพื่อดับไฟตัวสินค้าก็ได้รับความเสียหายแล้ว ในขณะที่ตัวอาคาร โดนน้ำอย่างไร ความเสียหายก็น้อยมาก

พูดกันตรงๆ ว่า ถ้าเป็นการประกันตัวสินค้าอย่างเดียว บริษัทประกันส่วนใหญ่จะปฏิเสธการรับงาน เพราะมองว่าเบี้ยที่รับมาอาจไม่คุ้มเมื่อต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ในประเด็นนี้ก็สามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะโบรคเกอร์ที่ติดต่อกับบริษัทประกันหลายที่และมีความชำนาญในการประกันทรัพย์สิน ก็จะใช้วิธีการหาประกันร่วม คือในการรับงานครั้งนี้จะใช้บริษัทประกันในการร่วมกับรับประกันมากกว่า 1 บริษัท อาจจะเป็น 2 ,3 หรือมากกว่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าของทุนประกันภัยที่จะทำ โดยแต่ละที่จะมีสัดส่วนในการรับประกัน เช่นมูลค่าทุนประกัน 100 ล้านบาท บริษัท A รับประกัน 40% บริษัทประกัน B และ C

รับคนละ 30% เมื่อรวมกันแล้วก็จะเป็น 100% ดังนั้นเวลาเกิดความเสียหาย บริษัทประกันก็จะจ่ายตามสัดส่วนของการรับประกันภัยนั่นเอง

หลายๆ ครั้งลูกค้าสงสัยว่า แล้วเวลาเคลมจะทำอย่างไร ในเมื่อมีถึง 3 บริษัทประกันภัย วิธีการก็คือ ตอนทำประกันภัย ทั้ง 3 บริษัท รับประกันบนพื้นฐานข้อมูลเดียวกัน เพียงแต่กระจายรับตามสัดส่วน เมื่อมีการเคลม บริษัทประกันก็จะใช้บริการ Surveyor ทำหน้าที่สำรวจความเสียหาย สรุปรายงานออกมาอย่างไรก็จะส่งให้ทั้ง 3 บริษัทประกันภัยร่วมกันพิจารณา เมื่อเห็นด้วยตรงกัน ค่าสินไหมเป็นเท่าใดก็ทำการจ่ายตามสัดส่วนที่บริษัทตนเองรับประกัน

เนื้อหาอาจจะดูมากหน่อยนะครับ แต่ผมก็ตั้งใจเขียนเพื่อให้เห็นภาพและผู้อ่านมีความเข้าใจมากที่สุด

ผมยังย้ำเหมือนเดิมนะครับ ว่าการประกันภัยที่คุ้มค่าที่สุด คือการประกันภัยอย่างมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครับ