พักหลังมักมีเบอร์โทรแปลกๆ โทรมาหาผม ซึ่งก็ไม่ได้โทรมาทำประกันนะครับ แต่โทรมาปรึกษาเรื่องประกัน บางเคสก็นั่งคุยกันนาน ถามไป ตอบไป ถ้าไม่ยุ่งมากผมก็คุยได้เรื่อยๆ ครับ
เคสนี้ก็เช่นกัน น่าสนใจครับ พี่เขาถามเรื่องน้ำล้นออกมาจากซิ้งค์น้ำ เนื่องจากท่อระบายน้ำชั้น 1 ระบายไม่ทัน แกถามผมว่าถ้าน้ำล้นออกมาแล้วทรัพย์สินเสียหายเคลมประกันได้ไหม ผมก็ตอบแกไปครับ
แกก็หยอดคำหวานว่าผมอธิบายดี แกเข้าใจเลย นั่งคุยกันไปมาแกก็เล่าให้ฟังว่า วันก่อนร้านค้าของญาติแก มีรถขับเข้ามาชนในร้าน ปรากฏว่าคนขับเมา ญาติแกเลยเคลมกับประกันอัคคีภัยที่ทำประกันไว้แทน แต่ตัวสต็อกสินค้าที่เสียหายกับเคลมไม่ได้
ประเด็นนี้แหละครับ ที่ผมสนใจและสงสัย ทำประกันแล้วทำไมเคลมตัวสินค้าไม่ได้ แต่ในใจก็มีคำตอบอยู่ว่าอาจเป็นเพราะอะไร
ถามไป ถามมา คำตอบก็เป็นอย่างที่ผมคิดครับ ญาติแก ทำประกันเป็นบ้านพักครับไม่ใช่ร้านค้า ตรงตามที่ผมคิดเป๊ะ
แน่นอนครับ พอทำประกันเป็นบ้านพัก ก็จะคุ้มครองเพียงสิ่งปลูกสร้างและเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีทุนประกันภัย ที่จะคุ้มครองในส่วนของสต็อกสินค้า
ที่ผมสันนิษฐานว่าจากประเด็นนี้เพราะการทำประกันบ้านพัก จะมีแถมภัยยวดยานมาให้โดยไม่ต้องเสียค่าเบี้ยครับ ในเคสนี้ถูกรถชนเข้ามาในอาคารจึงสามารถเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยได้จากภัยยวดยานนั่นเอง
แต่ผมก็มีบอกพี่เขาว่า ในกรณีนี้ญาติพี่สามารถเคลมประกันได้ แต่อาจจะเคลมได้ไม่เต็มความเสียหายที่เกิดขึ้นนะครับ ด้วยเหตุผลคือ
- ทำประกันผิดลักษณะการใช้งาน คือจริงๆ เป็นร้านค้าแต่ทำประกันเป็นบ้านพัก ซึ่งเบี้ยถูกกว่า
- ทุนประกันที่ทำต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้นบริษัทประกันจะเฉลี่ยจ่ายค่าสินไหมให้ตามสัดส่วนที่ทำประกันจริงเท่านั้น
พี่แกก็บอกว่าใช่เลย! เพราะญาติแกเคลมเสร็จแล้ว ได้ไม่เต็มจริงๆ ด้วย
ผมก็บอกแกว่า ความเสียหายส่วนที่เกินให้ไปเรียกคืนได้จากบริษัทประกันภัยรถยนต์ หรือคนขับรถยนต์ ได้ครับ
คุยกันแล้วแกก็คงติดลม ไม่ยอมวางสาย ถามต่ออีกว่า “ถ้าเราเคลมกับประกันรถยนต์ หลังบริษัทประกันรถยนต์จ่ายแล้ว เขาจะไปเรียกคืนจากคนขับหรือเปล่า”
กล้าถาม ผมก็กล้าตอบครับ
ผมชี้แจงแกเป็นประเด็นอย่างนี้ครับ
กรณีที่คนขับไม่เมา เมื่อบริษัทประกันภัยจ่ายค่าเสียหายให้คู่กรณีแล้ว จะไม่มีการไล่เบี้ยเอาจากคนขับครับ เพราะเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันภัยอยู่แล้วที่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้
แต่ในกรณีนี้ คนขับเมา จะแตกต่างออกไปครับ เพราะการที่คนขับมีระดับแอลกอฮอล์ เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ( อายุน้อยกว่า 20 ปี ) หรือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ( อายุมากกว่า 20 ปี ) จะเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองสำหรับความเสียหายต่อบุคคลภายนอกครับ แต่เนื่องจากระบบประกันภัยจะให้คุ้มครองความเสียหายต่อบุคคลภายนอก ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ให้ได้รับผลกระทบ บริษัทประกันภัยจึงจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เสียหายไปก่อน แต่จะไปเรียกคืนเอากับผู้เอาประกันภัยทีหลังครับ ( ย้ำนะครับว่าในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์เขียนว่า เรียกคืนจากผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่คนขับรถ )
สรุปบทสนทนาครั้งนี้เลยคุยกันตั้งแต่เรื่องน้ำ ไปถึงเรื่องคนเมาขับรถชน ….
มันก็ทำให้ผมรู้สึกดีนะครับ ว่า บางครั้งเรื่องประกันภัยก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อเสมอไป จะได้มีแรงผลักให้มาเขียนบทความและทำคลิปกันต่อไป แม้ว่าจะมียอดคนดูหลักสิบ หลักร้อยก็ ตาม 555555
สนใจติดต่อขอข้อมูล ขอคำปรึกษา หรือซื้อประกันภัย ติดต่อที่