อาคเนย์

จับตา อาคเนย์ฯ กับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ

อาคเนย์

ล่าสุด ผลการประชุมของ บอร์ด คปภ. มีมติรับคำขอเลิกประกอบธุรกิจของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยฯ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้อาคเนย์ฯ เสนอเข้ามาเพื่อทำการอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าสรุปเป็นประเด็นให้เข้าใจง่ายๆ คือ

  1. ณ. ปัจจุบัน คปภ. ไม่ได้ปฎิเสธ หรืออนุมัติ เพียงแต่รับคำขอเลิกกิจการ ที่อาคเนย์เสนอเข้ามา ผลก็คือ บริษัทอาคเนย์ฯ ยังคงประกอบธุรกิจตามปกติ ดังนั้นในเรื่องการเคลม ลูกค้าสามารถเคลมได้ตามปกติ และอาคเนย์ฯ ก็มีหน้าที่ส่งเจ้าหน้าออกเซอร์เวย์ความเสียหาย และ จ่ายสินไหมถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์
  2. คปภ. มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และ ระยะเวลา เพื่อให้อาคเนย์ฯ กลับไปเขียนแผนมาให้พิจารณา ซึ่งเนื้อหาหลักๆ เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของ ผู้ถือกรมธรรม์ ผู้รับผลประโยชน์ และผู้มีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับอาคเนย์ประกัยภัยทั้งหมด โดยสิ่งที่อาคเนย์ต้อง ตอบ คปภ.และ สังคมให้ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดก็คือ
    1. การจัดการหรือโอน ภาระผูกพันตามกรมธรรม์ทั้งหมดที่ยังมีผลผูกพันไปยัง บริษัทผู้รับโอน คือ ต้องหาบริษัทประกันอื่นมารองรับลูกค้าที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งอาคเนย์ต้องทำคือ
      1. แจ้งชื่อบริษัทประกันภัยที่จะรับโอน ให้ทาง คปภ.พิจารณา
      2. ทำให้มั่นใจได้ว่า กรมธรรม์ทั้งหมดที่โอนไป ความคุ้มครองที่ใหม่ต้องเท่ากับหรือไม่น้อยกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากกรมธรรม์เดิมของอาคเนย์
    2. วิธีและช่องทางในการแจ้งข้อมูลต่างๆ รวมถึงการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ให้กับ ผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ และผู้มีส่วนได้เสีย จะมีช่องทางและวิธีการอย่างไร ที่สำคัญคือต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่มีเนื้อหาคือ “แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่” แปลง่ายๆคือ บริษัทประกันใหม่ที่จะมารับช่วงต่อ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ด้วยความสมัครใจ ซึ่งถ้าผู้ถือกรมธรรม์ไม่ยอมย้ายไปบริษัทใหม่ วิธีการก็คือถอนกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันส่วนที่เหลือคืน
    3. เงินที่อาคเนย์ฯ สำรอง ไว้กับ คปภ. ตามกฎหมาย จะได้รับคืนเมื่อ
      1. มีการโอนลูกค้า และแปลงหนี้ ไปยังบริษัทประกันใหม่ที่มารับ เรียบร้อยแล้ว
      2. อาคเนย์ฯแสดงหลักฐานได้ว่า ไม่มีภาระผูกพัน หรือ หนี้สินใดๆ เหลืออีกแล้ว
    4. อาคเนย์ฯ ต้องดำเนินการ
      1. แสดงแผนงาน รายละเอียดในการจัดการหนี้สินและทรัพย์สิน ในการประกอบธุรกิจ ให้ทาง คปภ.ทราบ
      2. จัดการหนี้สินและทรัพย์สินข้างต้น ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งถ้าจัดการไม่ได้ก้ให้โอนไปยังผู้รับโอน โดยต้องมีหลักฐานว่าผู้รับโอนยินยอมรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว
      3. รายงานผลให้ คปภ. ทราบ
    5. ในเรื่องระยะเวลา ให้กำหนดร่วมกันระหว่าง คปภ.กับ อาคเนย์ฯ
ประกันภัย
ประกันภัย

ดังนั้น สิ่งสำคัญหลักจากนี้ที่เราต้องดูก็คือ

  1. บริษัทประกันอะไรที่จะมาทำหน้าที่รับลูกค้าต่อจาก บริษัทอาคเนย์ฯ
  2. การถ่ายโอนลูกค้า จะถ่ายโอนทั้งหมด หรือ แยกโอนระหว่างกรมธรรม์ประกันที่ไม่ใช่โควิด กับกรมธรรม์ประกันโควิด
  3. ทาง คปภ. จะเห็นชอบกับชื่อบริษัทที่รับโอน และ วิธีการจัดการที่อาคเนย์เสนอหรือไม่

สำคัญที่สุด ในช่วงที่เป็นสุญญากาศเช่นนี้ อาคเนย์ จะมีวิธีการเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าและสังคม ให้กลับมาได้อย่างไร เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้อย่างเรียบร้อยที่สุด