เคลมศักดิ์ศรี

เคลมศักดิ์ศรี เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

หลายๆครั้ง ที่อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆๆ ชนกันเบาๆ ความเสียหายของรถแทบจะมองไม่เห็นด้วยซ้ำ แต่กลับไม่ยอมกันจะเอาเป็นเอาตายให้ได้ จนบางครั้งเกินเลยไปถึงขั้นมีการชกต่อย ทั้งนี้ทั้งนั้นสาเหตุก็ไม่มีอะไรมาก นอกจาก คำพูดและท่าทาง เท่านั้นเอง เบียดกันนิดหน่อย ชนกันเล็กน้อย พอเปิดประตูลงมา ได้รับการต้อนรับจากคนชน ด้วยคำว่า “ขับรถยังไงวะ” ( ทั้งๆที่คุณเป็นคนชนเขา ) , “ถ้าคิดว่าถูกก็เรียกประกันดิ” ประโยคสั้นเพียงแค่นี้กลับกลายเป็นการสั่นกระดิ่ง ให้ “การเคลมแห่งศักดิ์ศรี” เริ่มต้นขึ้น มาดูกันว่าผลที่ตามมาของ การเคลมแห่งศักดิ์ศรี มีอะไรบ้าง

1. ความโชคร้ายของผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพราะรถติดมหาศาลจะตามมา เนื่องจากคู่กรณีไม่ยอมให้เลื่อนรถ เกรงว่าที่ตนถูกจะกลายเป็นเสียเปรียบ ( ต่างคนต่างมโนเอาเองก่อนว่าขับมาถูก เหตุผลร้อยแปดออกมาเพื่อสนับสนุนให้ตัวเองถูก เพราะนาทีนี้ถอยไม่ได้แล้ว ) ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วแค่ถ่ายรูปการเกิดเหตุ ก็สามารถเคลื่อนย้ายรถได้แล้ว หรือถ้ามีประกันชั้น 1 ทั้งคู่แค่แลก Knock for Knock ก็จบ

2. เมื่อประกันของแต่ละฝ่ายมาถึง จะไม่มีความจริงใดๆ ออกจากปากของคู่กรณีเลย เพราะต่างๆ ฝ่ายต่างให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้ตนเองเป็นฝ่ายถูก และเมื่ออีกฝ่ายคิดอีกฝ่ายหนึ่งพูดโกหก ประโยคต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์การชนก็จะเกิดขึ้น เช่น “ไปซื้อกระโปรงมาสวมเลยไหม” ,”หน้าตาชั่วแล้วยังปาก…อีก”, จนบางทีเมื่ออารมณ์ถึงขีดสุด คนขับรถก็สามารถเปลี่ยนสถานะเป็นนักมวยได้โดยปริยาย และเมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ต้อง

3. หาคนกลางให้ตัดสิน ซึ่งก็คือต้องไปสถานีตำรวจ ให้ร้อยเวรเป็นคนชี้ ลองนึกภาพร้อยเวร ซึ่งนั่งทำงานอยู่ มีคดีเข้ามามากมาย คนรอความช่วยเหลือนับสิบ ปรากฎว่ามีคน 2 คน มาทะเลาะกันด้วยเรื่องที่หาสาระได้น้อยมาก แถมยังพูดไม่หยุด สะกดคำว่าฟังไม่เป็น หลังจากเวลาผ่านไป 1 – 2 ชั่วโมงและยังตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายเพื่อตัดปัญหา ร้อยเวรก็มักจะชี้ว่าประมาทร่วม และทำการปรับทั้ง 2 ฝ่าย ก็โดนกันไปทั้งคู่ อย่างต่ำก็คนละ 400 บาท คือนอกจากเสียเวลาแล้ว ก็เสียตังส์อีก ( ศักดิ์ศรีล้วนๆ เจอไปให้เข็ด )

4. เมื่อเจอประมาทร่วม ใบเคลมที่ได้รับไปจากบริษัทประกันก็เสมือนว่า ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิดในอุบัติเหตุครั้งนี้ เพราะไม่สามารถไปเรียกเก็บค่าซ่อมจากคู่กรณีได้ ดังนั้นถ้ารถคันนี้ไม่เคยมีการเคลมมาก่อนในปีกรมธรรม์ที่ผ่านมา ก็จะส่งให้เสียส่วนลดประวัติไปโดยปริยาย ว่ากันง่ายๆก็คือ เบี้ยประกันภัยก็จะเพิ่มขึ้น ในปีถัดไป

จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เรามีวิธีการแนะนำ ง่ายๆ ดังนี้คือ

1. เมื่อลงมาจากรถแล้ว เข้าไปดูรถว่ามีแผลไหม ถ้าไม่มี คนที่ชนก็พูดคำว่า “ขอโทษครับ” พร้อมกับยิ้ม

2. คนที่ถูกชนก็บอกว่า “ไม่เป็นไรครับ” แล้ว ต่างคนก็แยกย้ายกันไปทำธุระกัน

เพียงง่ายๆ แค่เนี่ย จบป่ะ

หมายเหตุ ขอบคุณรูปภาพจาก kapook.com