ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์

ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ต่างกันอย่างไร

ในที่นี้จะขออธิบายเพียงคร่าวๆ เพื่อไม่ให้ข้อความยาวนัก เพราะถ้าจะอธิบายโดยใช้หลักกฎหมาย จะต้องพูดถึงองค์ประกอบทั้งภายนอกและองค์ประกอบภายใน ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรู้สึกว่ายุ่งยากเกินไป จึงขอสรุปสั้นๆ เพื่อความเข้าใจ

ทั้ง 3 คำนี้ มีฐานมาจากคำว่าลักทรัพย์ โดย ปอ.ม.334 บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำผิดฐานลักทรัพย์ “

ในทางกฎหมายคือผู้กระทำความผิด ได้ทำลายทั้ง กรรมสิทธิ์ และ การครอบครอง ของเจ้าของทรัพย์ครับ คือมีการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป ( เป็นการทำลายการครอบครอง ) และมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของในทรัพย์สินนั้น ( ทำลายกรรมสิทธิ์ ) โดยทุจริต

ส่วนคำว่า ชิงทรัพย์ ปอ.ม.339 บัญญัติว่า ” ผู้ใดลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ

ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ”

การชิงทรัพย์นั้น จะต้องมีการลักทรัพย์เกิดขึ้น แต่มีองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นมาคือ มีการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในทันทีทันใด โดยอาจกระทำด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางก็ได้ และไม่จำเป็นต้องทำกับเจ้าของทรัพย์โดยตรง อาจทำต่อบุคคลอื่นก็ได้ แต่ต้องทำจนกลัวและยอมให้ทรัพย์ไปและได้ทรัพย์นั้นไป ในเวลาอันใกล้นั้นคือการลักทรัพย์ไม่ขาดตอน นอกจากนั้น ผู้กระทำผิด ต้องมีเจตนาพิเศษ เป็นมูลเหตุชักจูงใจอย่งใดอย่างหนึ่ง ตาม 5 ข้อด้านบนด้วย

ส่วนคำว่า ปล้นทรัพย์ ปอ.ม.340 บัญญัติว่า ” ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ” องค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ เป็นการชิงทรัพย์ที่มีผู้กระทำความผิดร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

โดยรวมทั้งหมดนี้ก็คือ ข้อแตกต่างของคำ 3 คำข้างต้นครับ