เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ กดดัน 7 อรหันต์ กนง.ลดดอกเบี้ย

กระแสกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยดังกระหึ่มมาจากทุกภาคส่วน แม้กระทั่ง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ออกมาสำทับในทิศทางเดียวกัน ทำให้เป็นที่จับตาว่าในการประชุม กนง. วันที่ 11 มี.ค.นี้ จะเห็นมติการ “ลดดอกเบี้ย” หรือไม่

ขณะที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ไทยและเทศที่จัดทำโดยบลูมเบิร์ก เรื่องคาดการณ์ผลประชุม กนง. รอบวันที่ 11 มี.ค.ที่จะถึงนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 8 ใน 10 ราย ฟันธงว่า กนง.จะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อไป ขณะที่ “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจเพิ่มเติมอีก 3 แบงก์ และ 2 บล.พบว่า เสียงส่วนใหญ่ยังประเมินว่า กนง.จะ “คงดอกเบี้ย” ต่อไป

ภายใต้แรงกดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้เงินบาทอ่อนค่า ตามคำเรียกร้องจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคส่งออก และช่วยลดต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการ หลังอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยอ่อนแรง เติบโตเพียง 0.7% ในปีที่ผ่านมา ความหวังจะให้ “นโยบายการเงิน” เป็นผู้ช่วยสนับสนุนกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีอยู่ตลอด

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธาน กนง. ได้ชี้แจงเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ว่า นโยบายการเงินในระดับปัจจุบันผ่อนปรนเพียงพอและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.ประมาณการว่าปีนี้น่าจะเติบโตที่ระดับ 4% จากแรงหนุนด้านการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้กำลังซื้อดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวในสาขาที่เกี่ยวกับความต้องการในประเทศ และการส่งออกจะดีขึ้นจากปีก่อน แม้จะไม่เติบโตสูงนัก

“การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะขับเคลื่อนการลงทุนได้มากขึ้นในครึ่งหลังของปี”

ตอกย้ำสิ่งที่เขาพูดเสมอว่า “นโยบายการเงิน” เป็น “กองหลัง” ส่วน “นโยบายการคลัง” เป็น “กองหน้า”

อดีต กนง.ชี้เงินเฟ้อต่ำมีพื้นที่ให้ลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบทำสถิติรอบ 5 ปี อยู่ที่ -0.41% และ -0.52% ในเดือน ม.ค. และ ก.พ.ตามลำดับ และยังมีคาดการณ์ว่าจะ “ติดลบ” ไปถึงกลางปี จนกว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ความเห็นของอดีต กนง. “ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” กล่าวว่า ฟังดู คนฝั่งแบงก์ชาติน่าจะยังยืนหลักการเดิม คือคงดอกเบี้ยระดับปัจจุบันต่อไป เพราะ กนง. 7 คน เป็นคนแบงก์ชาติ 3 คน ซึ่งค่อนข้างอนุรักษนิยมตามแบบคนแบงก์ชาติ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 อาจยืดหยุ่นกว่า แต่ที่ผ่านมาดูผลการลงมติแล้วก็มีแนวโน้มว่า รอบนี้แบงก์ชาติน่าจะยืนดอกเบี้ย 2% ต่อไป เพราะถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้ว และนโยบายการเงินไม่สามารถใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่ากับนโยบายการคลัง

“ส่วนตัวผมคิดว่ารอบนี้ถ้าลดลงบ้างก็ดี เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกตลอดปีนี้ น่าจะไม่เกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล”

ทั่วโลกใช้นโยบายการเงินป้องกันตัวเอง

กรณีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ นำไปสู่คำถามว่าไทยเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” แล้วจริงไหม คำอธิบายจากผู้ว่าการ ธปท.ก่อนหน้านี้ คือ ภาวะเงินฝืด (Deflation) จะเกิดเมื่ออุปสงค์ หรือกำลังซื้อต่ำ คนตกงาน แต่ที่เกิดขึ้นขณะนี้ “เงินเฟ้อติดลบ” เป็นปัญหาฝั่งอุปทาน เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน่าจะอยู่ระดับต่ำถึงครึ่งหลังปีนี้ สรุปสั้น ๆ คือประเทศไทยเวลานี้ไม่ได้เกิดเงินฝืด

ฟาก “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า เวลานี้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ ยูโรโซน สวิตเซอร์แลนด์ และอีกหลาย ๆ ประเทศหันมาใช้นโยบายการเงิน ด้วยการลดดอกเบี้ยให้ต่ำ ทำค่าเงินสกุลท้องถิ่นให้อ่อน

แล้วส่งออกภาวะเงินฝืด เพื่อดูแลเศรษฐกิจตัวเอง ขณะที่ธนาคารกลางอื่น ๆ ก็ต้องป้องกันตัวเองด้วยการลดดอกเบี้ย เช่นที่สิงคโปร์ทำ มีแต่ประเทศไทยที่นโยบายการเงินยังเป็นฝ่ายรับมากกว่ารุก

กระทุ้งลดภาระต้นทุนธุรกิจ

ด้าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เลขาธิการ สศช. ที่ออกมา กระทุ้งตรง ๆ ว่า ดอกเบี้ยแท้จริงที่เป็นบวกต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการอยู่ในระดับสูง และจะถูกส่งผ่านไปที่

ค่าใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้น หลายประเทศจะไม่รอให้เงินเฟ้อติดลบแค่เข้าใกล้ 0% ก็จะมีมาตรการการเงินมาใช้แล้ว

“ข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน มาจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงและมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง กระทบกับภาคครัวเรือนโดยเฉพาะที่ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก และการบริโภคในต่างจังหวัดก็พบภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่คนทำนโยบายการเงินต้องพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”

สอดคล้องกับความเห็น กนง.เสียงข้างน้อยที่ปรากฏในรายงานการประชุม กนง. ที่เผยแพร่ออกมาภายหลังการประชุมรอบที่ผ่านมา (28 ม.ค. 2558) ระบุที่ให้เห็นผลว่าควรลดดอกเบี้ยลง 0.25% เนื่องจากการลดลงของเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เป็นลบในช่วงต่อไป จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น นโยบายอัตราดอกเบี้ยจึงควรผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น อีกทั้งการดำเนินโยบายการเงินของหลายประเทศในโลก ทำให้เกิดความเสี่ยงของเงินทุนไหลเข้า เพิ่มแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าและอาจกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

จับตา กนง.เสียงแตกซ้ำ

“อริยา ติรณะประกิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า มีโอกาสที่รอบนี้จะมีความเห็นใน 2 ทิศทางชัดเจน เนื่องจากฝ่ายหนึ่งมองว่า ลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เท่ากับการลงทุนจากภาครัฐ แต่ในอีกด้านมองว่าภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว เป็นปัจจัยที่ทำให้มองว่า กนง.อาจลดดอกเบี้ย

“ดังนั้นจึงมีนักลงทุนบางส่วนหันมาเก็งกำไรพันธบัตรระยะสั้น เพื่อดักทางผลการประชุม กนง. หากมีการลดดอกเบี้ย แต่ก็ซื้อไม่มาก ต่างจากแรงซื้อในบอนด์ยาวที่ยังมีต่อเนื่องและจำนวนมาก สะท้อนนักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย”

โดยพบว่าช่วงนี้มีแรงซื้อพันธบัตรระยะยาวจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น แม้ 2 เดือนแรกของปี โดยภาพรวมนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 15,700 ล้านบาท แต่ช่วงต้นเดือน มี.ค.มีแรงซื้อเข้ามาที่บอนด์ยาวรวมแล้ว 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ของพันธบัตรไทยอายุ 10 ปีลดลงต่อเนื่องจากต้นปี ประมาณ 0.14% เข้าใกล้ยีลด์พันธบัตรสหรัฐอายุเท่ากันที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวที่ระดับใกล้เคียง 2%

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจทั้งอัตราเงินเฟ้อต่ำติดลบ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ยังหดตัวต่อเนื่อง การเบิกจ่ายงบฯลงทุนภาครัฐทำได้เพียง 18% ขณะที่การส่งออกยังไม่ฟื้น เงินบาทไทยแข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้า เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาของ กนง. ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังจะเห็นการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้

ย้อนดูสถิติปีที่ผ่านมา กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งเดียวเมื่อเดือน มี.ค. 2557 จากระดับ 2.25% ลงมาที่ 2% แล้วหลังจากนั้นก็มีมติตรึงดอกเบี้ยเป็นเอกฉันท์มาตลอด กระทั่ง 2 รอบหลัง (ธ.ค. 2557 และ ม.ค. 2558) ที่มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงดอกเบี้ย ยิ่งสะท้อนตัวเลขเศรษฐกิจชัดขึ้น ความเห็นที่ต่างก็เพิ่มขึ้น และไม่แน่ว่ารอบ 11 มี.ค. เสียงส่วนน้อยใน กนง.อาจมีน้ำหนัก ต้องจับตาดู

Credited by : www.facebook.com/PrachachatOnline