ผู้เล่นทั้งหมดในธุรกิจประกันภัย

สำหรับผู้เล่นในธุรกิจประกันภัยนั้น ก็แบ่งเป็นหลักๆ ได้ 3 ฝ่าย คือผู้ควบคุม ในที่นี้ก็คือ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือที่เรียกกันจำง่ายๆ ว่า คปภ. ต่อมาก็คือตัวผู้เล่นหรือคู่สัญญา ซึ่งก็คือบริษัทประกันภัยในฐานะผู้รับประกันภัย กับลูกค้าในฐานะผู้เอาประกันภัย และฝ่ายที่ 3 ก็คือตัวกลางในธุรกิจ ก็ได้แก่ นายหน้า และ ตัวแทน

มาเริ่มรู้จักจากฝ่ายแรกก่อน เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจประกันภัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใช่แล้วผมกำลังพูดถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยจากนี้ไปผมจะเรียกสั้นๆ ว่า คปภ. นะครับ เดิมทีก่อนจะมี คปภ. นั้น เรามี กรมการประกันภัย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ จนกระทั่งในปี 2550 จึงมีการเปลี่ยนมาเป็น คปภ. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และย้ายมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง แนวคิดก็มาจากการมองว่าบริษัทประกันภัยนั้นมีสถานะและความสำคัญเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน อย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นความคงอยู่ของบริษัทประกันภัย ย่อมมีผลเป็นวงกว้างต่อประชาชนที่เป็นลูกค้า เพราะก่อนหน้านี้มีบริษัทประกันหลายแห่งถูกปิดไปและลูกค้าที่ใช้บริการก็แทบไม่ได้รับการชดเชยเลย เพราะเงินที่ได้จากกระบวนการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดนั้นกว่าจะจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ คู่ค้าเช่นอู่ ก็แทบจะไม่มีเหลือมาถึงมือของลูกค้าแล้ว

ดังนั้น คปภ. จึงมีบทบาทสำคัญมากในการออกกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อควบคุมการบริหารงานของบริษัทประกันให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยมีการกำหนดระยะเวลาให้มีการปรับตัว และเพื่อเป็นการรองรับการแข่งขันเสรีจากต่างชาติในอนาคตด้วย ในขณะเดียวกันก็มีการออกมาตราการเพื่อส่งเสริมและพัฒนานายหน้าและตัวแทนให้มีความสามารถมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุบัตร ที่มีเงื่อนไขที่เคร่งครัดขึ้น เช่น ต้องมีการอบรมตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนด หรือจัดกรอบขอบเขตในวิธีการขายเพื่อเป็นการคุ้มครองลูกค้า ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ถือเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ดีสำหรับธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ

สำหรับบริษัทประกันภัยนั้น อย่างที่บอกคงต้องมีการปรับตัวกันอย่างสูง จะมาเอาเงินเบี้ยประกันของลูกค้าไปทำโน่นทำนี่ ไปซื้ออะไรต่ออะไร แต่งบัญชีให้ดูดี เห็นทีว่าจะทำไม่ได้ในอนาคต เพราะเดี๋ยวนี้เขามีกฎเกณฑ์การกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง ( Risk-Based Capital หรือ RBC ) ซึ่งเริ่มมีผลทยอยบังคับใช้แล้ว ซ้ำในอนาคตอันใกล้ยังต้องผลักตัวเองไปเป็นบริษัทมหาชนตามที่กฎหมายกำหนดอีก รับรองได้ว่าในปี 2554 เป็นต้นไป คงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับบริษัทประกันภัย ทั้งควบรวมกิจการ เพิ่มทุน หรือรูปแบบอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด ท้ายที่สุดก็จะเหลือแต่บริษัทประกันที่มีอาวุธพร้อมจะสู้รบในธุรกิจนี้ ดังนั้นการจะเลือกทำประกันอย่าดูที่เบี้ยประกันถูกอย่างเดียวนะครับ ให้คำนึงถึงความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันด้วย มิเช่นนั้นเบี้ยประกันถูกแต่ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมได้ก็ไม่มีประโยชน์ครับ

ส่วนนายหน้า และ ตัวแทน ซึ่งถือเป็นคนกลางที่เชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกันภัยกับลูกค้า ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องมี ทำไมไม่ให้ลูกค้าประกันโดยตรง อาจตอบง่ายๆ ว่า โดยลักษณะของสินค้า คือตัวกรมธรรม์ประกันภัยนั้น จะต้องมีการชี้แจงให้ข้อมูล ประกอบกับฐานลูกค้าก็หลากหลายและมีจำนวนมาก การจะให้บริษัทประกันมาทำตลาดเองก็คงเป็นการยากในทางปฎิบัติ นอกจากนั้น ในเวลาที่ต้องมีการเคลม หรือเรียกร้องค่าสินไหม นายหน้า และ ตัวแทน ก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่ต่อรอง และ ประสานงานให้แก่ลูกค้า ดังนั้นเดิมที่ผ่านมา นายหน้า และ ตัวแทนก็จะมีหน้าที่ให้บริการลูกค้า จนลูกค้าไว้วางใจเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดี แต่ในอนาคตทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพียงแค่ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าอาจจะไม่พอ แต่ นายหน้าและตัวแทน จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย รวมถึงแบบประกันประเภท ต่างๆ ด้วย โดย ทางคปภ. ได้จัดให้มีการอบรม ทุกครั้งในการต่ออายุบัตรนายหน้าและตัวแทน ซึ่งน่าจะส่งผลดีสำหรับ ตัวแทน นายหน้า รวมถึงตัวลูกค้าเอง ในระยะยาว