หลักสุจริตอย่างยิ่ง

เป็นหลักที่กำหนดให้ผู้เอาประกันหรือลูกค้าที่จะทำประกัน มีหน้าที่คือต้องเปิดเผยความจริง ซึ่งความจริงนี้ถ้าบริษัทประกันได้รู้อาจจะปรับเบี้ยสูงขึ้นหรือปฎิเสธไม่รับประกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อมูลที่ถูกต้องจะสามารถทำให้ผู้รับประกันภัย ( บริษัทประกันภัย ) รู้ถึงความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ตนเองจะต้องรับประกัน โดยอาจจะมีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันในกรณีที่เห็นว่ามีความเสี่ยงสูงแต่พอรับได้ หรืออาจปฎิเสธไม่รับประกันภัยเลย เช่น คุณทรงพล ต้องการประกันอัคคีภัยบ้านของตน โดยใบแบบฟอร์มมีการถามว่าตัวผนังและหลังคามีลักษณะอย่างไร เนื่องจากคุณทรงพลทราบมาจากเพื่อนบ้านว่าถ้าผนังเป็นไม้เบี้ยประกันจะสูงกว่าผนังเป็นปูน ทั้งๆที่คุณทรงพลก็รู้ดีว่าบ้านของตนผนังเป็นไม้ แต่กับแจ้งข้อมูลต่อบริษัทประกันไปว่าผนังเป็นปูน ดังนั้นเมื่อมีการเกิดเพลิงไหม้กับบ้านหลังนี้และภายหลังบริษัทประกันได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง บริษัทประกันก็มีสิทธ์บอกเลิกสัญญาได้ ( เนื่องจากสัญญาประกันภัยดังกล่าวเป็นโฆฆียะ )

ปพพ. มาตรา ๘๖๕ ถ้า ในเวลาทำ สัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย ก็ดี หรือ ในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงิน ย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือ มรณะของเขานั้น ก็ดี รู้อยู่แล้ว ละเว้นเสีย ไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่ง อาจจะได้จูงใจ ผู้รับประกันภัย ให้เรียกเบี้ยประกันภัย สูงขึ้นอีก หรือ ให้บอกปัด ไม่ยอมทำสัญญา หรือว่า รู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้น เป็นความเท็จไซร้ ท่านว่า สัญญานั้น เป็นโมฆียะ ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้าง ภายในกำหนด เดือนหนึ่ง นับแต่ วันที่ผู้รับประกันภัยทราบ มูลอันจะบอกล้างได้ ก็ดี หรือ มิได้ใช้สิทธินั้น ภายในกำหนด ห้าปี นับแต่ วันทำสัญญา ก็ดี ท่านว่า สิทธินั้น เป็นอันระงับสิ้นไป