ฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 กับ วิกฤตที่คนไทยต้องเผชิญในปี 2562 และต่อจากนี้ไป

ฝุ่น PM 2.5

อันตรายจากฝุ่น PM 2.5

มลภาวะทางอากาศอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่คนไทยกำลังให้ความสนใจอย่างจริงจัง สังเกตุกันได้จากท้องฟ้าของเรานั้นถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มหมอกจางๆ ในความรู้สึกแรกหลายคนอาจจะนึกถึงหมอกที่มาจากลมหนาว .. แต่หารู้ไม่ว่ามันไม่ใช่หมอกแต่อย่างใด แต่กลับเป็นฝุ่นควันที่มีมากจนเกินค่ามาตรฐาน จนทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ที่น่าตกใจคือเมื่อปริมาณฝุ่นมีมาก หนาแน่นในบางพื้นที่ของกรุงเทพและปริมณฑล จนเกินค่ามาตรฐานที่ปลอดภัยไปมาก กรุงเทพมหานครเองก็เคยมีโอกาสติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่มีสภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกตามเกณฑ์ของกรมอนามัยโลก (WHO)  ถึงจะเป็นเรื่องที่เราไม่น่าภูมิใจกัน และในเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้ว เราก็ควรเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน และปกป้องชีวิตของเราเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้กับเหตุการณ์ มลภาวะอากาศ PM 2.5 นี้ให้ได้

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร 

PM2.5 ย่อมาจาก Particulate Matter 2.5 คืออนุภาคสสารที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน อาจเทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เล็กขนาดที่ขนจมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร

PM2.5 เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลักคือ

1. แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่

  • การเผาในที่โล่ง ปล่อย PM2.5 มากที่สุดถึง 209,937 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนบนของไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงหมอกควันพิษข้ามพรมแดน
  • การคมนาคมขนส่ง ปล่อย PM2.5 ราว 50,240 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) อีกด้วย
  • การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM2.5 ราว 31,793 ตันต่อปี แม้จะมีค่า PM2.5 น้อยกว่าการเผาในที่โล่งและการคมนาคมขนส่ง หากแต่กลับมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด
  • อุตสาหกรรมการผลิต ปล่อย PM2.5 ราว 65,140 ตันต่อปี โดยพบมากที่สุดในพื้นท่ีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเกิดจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม

2. การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งมีสารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์

หน้ากากกันมลภาวะประเภทต่างๆ 

อย่างที่ทราบกันแล้วว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้น เป็นฝุ่นที่อันตรายมาก เต็มไปด้วยโลหะหนักมากมาย ที่พร้อมจะเข้าไปทำลายระบบประสาท ฝุ่นมีขนาดเล็กมาก แม้แต่ขนภายในจมูกของเราไม่สามารถป้องกันได้ “หน้ากากอนามัย” จึงกลายเป็นสินค้าขายดีขึ้นมาทันที กระทรวงสาธารณสุขนำให้ใช้หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน แต่โดยมีวิธีเลือกหน้ากากอนามัยดังนี้

  • หน้ากากอนามัยชนิด N95 เป็นหน้ากากอนามัยที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ เป็นหน้ากากที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด เพราะป้องกันได้ทั้งฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน เหมาะสำหรับป้องกันมลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างที่พบเห็นกันทุกวันนี้ ควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
  • หน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้าย เป็นหน้ากากคล้ายแบบเยื่อกระดาษ เน้นการป้องกันการกระจายของน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอจาม แต่อาจไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอนขึ้นไป แต่ฝุ่นละอองที่พบในปัจจุบันนี้มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนจึงไม่สามารถป้องกันได้
  • หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น หน้ากากชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เป็นหน้ากากที่เหมาะสำหรับป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอหรือจาม ป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อโรคจำพวกเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้ แต่หากเป็นเชื้อไวรัสซึ่งมีอนุภาคเล็กระดับไมครอนอาจจะไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่เพียงพอหากต้องการป้องกันฝุ่นพิษ

สรุปแล้วสำหรับหน้ากากที่เหมาะสำหรับป้องกันฝุ่นพิษได้ดีที่สุดคือ หน้ากาก N95 ส่วนหน้ากากประเภทอื่นนั้น ช่วยป้องกันได้เพียงส่วนหนึ่ง เพราะขอบของหน้ากากอนามัยทั่วไปยังไม่มิดชิดเข้ากับผิวหน้าของผู้สวมใส่ เชื้อโรคจึงสามารถเล็ดลอดผ่านบริเวณดังกล่าวได้

หน้ากาก N95 สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือร้านชายเวชภัณฑ์ทั่วไป สำหรับในช่วงนี้ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ ก็คงต้องสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน รวมทั้งให้เด็กและผู้สูงอายุสวมใส่ด้วย เพื่อป้องกันมลพิษอันร้ายแรงที่กระจายตัวอยู่ในอากาศ อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการไอจามได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญควรเปลี่ยนหน้ากากใหม่ทุกวัน ไม่ควรใช้ซ้ำของเดิม ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่หน้ากาก วิธีเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันอันตรายได้

ที่มาของข้อมูล

www.honestdocs.co/pm-2-5-environmental-nano-pollutants

www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Urban-Revolution/Air-Pollution/Right-To-Clean-Air/activity/The-Art-Exhibition/

www.who.int/mediacentre/news/releases/2016/air-pollution-rising/en