กรณีศึกษา ประกันตกแต่งร้านค้า ( ตอนจบ )

******เนื้อหาต่อจากเหตุการณ์คราวก่อน*****

หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้นบันทิศ ก็ไปพบ กับพี่ดุสิต โดยทันที

บันทิศ ชี้แจงถึงตัวเลขที่ได้รับมาจากบริษัทประกันภัย

พี่ดุสิต โวยทันทีว่าทำไมถึงต้องหัก 50,000 บาท บันทิศกล่าวขอโทษ ที่ไม่ได้ชี้แจ้งให้ชัดเจนในตอนแรก แต่ก็ให้เหตุผลว่า

“พี่ครับ การประกันประเภทนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีได้ตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น จนถึงหลักล้านบาท เมื่อมีการเคลมก็มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คือพนักงานต้องออกไปที่เกิดเหตุ ต้องมีงานเอกสาร บางครั้งเคลมแค่ 4-5 พันบาท ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายกับบริษัทประกันภัย

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการเคลมเล็กๆ น้อยๆ ทางบริษัทประกันภัยจึงต้องกำหนดความเสียหายส่วนแรกขึ้นมา เพื่อจะทำให้เบี้ยประกันถูกลง และเน้นไปคุ้มครองความเสียหายมูลค่าที่สูงเช่นหลักแสนหลักล้าน บาท”

พี่ดุสิต นิ่งเงียบไม่พูดอะไร แต่ก็ถามต่อว่าทำไมเขาจึงได้เพียง 10,000 บาท แทนที่จะเป็น 30,000 บาท

“พี่ครับ อันนี้เรียนตามตรงว่า พี่ทำประกันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง คืองานรับเหมาพี่จริงๆ 1,200,000 บาท แต่พี่ทำประกันมูลค่างานเพียง 400,000 บาท ซึ่งมันก็คือมูลค่าเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ทางประกันเขาจึงต้องใช้หลักการเฉลี่ยความรับผิดกับทางผู้เอาประกันครับ”

ดุสิต โวยวายทันที “อะไรกัน ผมทำประกัน 400,000 บาท คราวนี้เสียหายยังไม่ถึง 100,000 บาท เลย กลับไม่ยอมจ่ายผมเต็มจำนวน มันไม่ถูกหรอกทำอย่างนี้ เอาเปรียบกันชัดๆ”

“พี่ครับ .. ใจเย็นๆ ก่อนครับ ผมขออธิบายก่อน พี่ลองนึกดูนะครับ ถ้าสมมติมูลค่างาน 2,000,000 บาท แต่ทำประกัน 500,000 บาท แล้วปรากฎว่าเสียหาย 300,000 บาทแล้วประกันจ่ายให้เต็ม ดังนั้นทีหลังทุกคนก็ทำประกันแค่ 500,000 บาทกันหมดซิครับ เพราะว่าประหยัดเบี้ยประกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นพี่คิดว่าคนที่เสียเบี้ยคนอื่นๆ แล้วเขาไม่ได้เคลมประกัน เขาไม่เสียเปรียบรึครับ ท้ายที่สุดแล้วระบบประกันภัยก็อยู่ไม่ได้นะครับ

ทางประกันเขาก็เลยต้องเฉลี่ยครับ แต่เอาอย่างนี้ผมถือว่า หน้าที่แรกของผมคืออธิบายหลักการและเหตุผลรองรับให้พี่เข้าใจก่อน ส่วนเรื่องความเสียหายผมจะเข้าไปต่อรองกับบริษัทประกันให้เพิ่มนะครับ ว่าตรงไหนพอจะช่วยเหลือได้บ้าง”

พี่ดุสิต ถึงแม้จะรู้สึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นคนยอมรับซึ่งเหตุผลจึงรับฟังอย่างเข้าใจ และก็ถามเพิ่มว่า “แล้วส่วนที่นอกเหนือจากบริษัทประกันจ่าย ผมจะไปเรียกร้องกับใครได้”

“ผมแยกอย่างนี้นะครับ ในส่วนที่บริษัทประกันภัยจ่ายให้พี่ บริษัทประกันภัยก็จะรับช่วงสิทธิ์ต่อจากพี่ เพื่อไปเรียกร้องผู้ก่อเหตุ ซึ่งตอนนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเป็นใคร

และในส่วนความเสียหายที่นอกเหนือจากนั้น ทางพี่ต้องไปเรียกร้องทางผู้ก่อเหตุเช่นกันครับ”

เมื่อดุสิต ได้ยินก็ทำหน้าตกใจ “งั้นผมก็ตายละซิ จะไปเรียกร้องยังไง ยังไม่สรุปว่าใครผิด แถมถ้าผู้รับเหมาผิด เขาก็ไม่ได้ทำประกันซะด้วย เขาจะชดใช้ผมไหวหรือเนี่ย”

บันทิศรับฟัง ด้วยความเข้าใจ แต่ก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ นอกจากรับปากว่าจะไปคุยกับบริษัทประกันภัยเพื่อช่วยเพิ่มตัวเลขสินไหมให้สูงขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ใครคือคนที่จะต้องรับผิดชอบ , งานรับเหมาแต่ละห้องที่ได้รับความเสียหายจะส่งมอบทันหรือไม่ ถ้าเกิดค่าปรับจะไปเอาที่ใคร และสุดท้ายพี่ดุสิตจะไปเรียกร้องอย่างไร ในเมื่อตัวเองเป็นผู้รับเหมาอิสระ ไม่มีฝ่ายกฎหมาย

แต่ที่รู้ๆ ก็คือ การทำประกันระหว่างก่อสร้าง ไม่ใช่ต้องทำเพราะทางอาคารบังคับให้ทำ แต่ทำเพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วเราอุ่นใจได้ว่าทางประกันภัยสามารถมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเราได้ เพียงแต่ต้องทำประกันมูลค่าให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง และสมเหตุผล เพราะอย่างน้อยเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและความผิดเกิดจากเรา ก็จะมีคนเข้ามาช่วยรับผิดและชดใช้ความเสียหาย ทั้งห้องของเรา ห้องอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหาย หรือแม้แต่กระทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวอาคารนั้น…….