ประกันอัคคีภัย ประกันไฟไหม้

อะไรคือการประกันอัคคีภัย ประกันไฟไหม้

การประกันอัคคีภัย หรือการประกันไฟไหม้ คือการประกันสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่อยู่ภายในสิ่งปลูกสร้างนั้น อันได้รับความเสียหายมาจากภัยตามที่กำหนดไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ โดยจะให้ความคุ้มครองในส่วนของภัยหลัก และภัยเพิ่มที่ผู้เอาประกันมีการซื้อเพิ่มเติม โดยถ้าเป็นการประกันอัคคีภัยประเภทที่อยู่อาศัย หรือประกันไฟไหม้บ้าน ภัยที่ให้ความคุ้มครองตามพื้นฐานของกรมธรรม์ก็ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยเนื่องจากน้ำ ( ไม่รวมน้ำท่วม ) ภัยจากอากาศยาน ภัยจากยานพาหนะ

ส่วนถ้าสถานที่ใช้งานเป็นประเภทอื่นที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยเช่น ร้านค้า โกดังเก็บสินค้า โรงงานผลิตสินค้าต่างๆ และอื่นๆ ภัยที่ให้ความคุ้มครองพื้นฐานตามกรมธรรม์ จะมีเพียง ไฟไหม้และฟ้าผ่า ส่วนภัยอื่นๆ ผู้เอาประกันจะต้องซื้อเพิ่มเติมให้กับกรมธรรม์หลัก

ในส่วนของที่มาของเบี้ยประกันไฟไหม้นั้น การประกันประเภทนี้จะมีที่มาของเบี้ยประกันภัยชัดเจน โดยปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดอัตราเบี้ยประกันคือ

1. ลักษณะสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแบ่งเป็น ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3

2. การใช้สถานที่ จะมีอัตราแน่นอนชัดเจน เนื่องจากมีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันในแต่ละประเภทของการใช้สถานที่เป็นอัตรากลางที่ใช้สำหรับบริษัทประกัน เช่นถ้าเป็นที่อยู่อาศัยคือ 0.081, ร้านค้า 0.204, โกดังเก็บสินค้า ( ไม่ไวไฟ ) 0.238 ส่วนการใช้งานประเภทอื่นๆ ก็จะมีอัตราแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยในธุรกิจนั้นๆ ( อ้างอิง ณ 1/1/2554 )

3. ทำเลที่ตั้ง ว่าอยู่ในส่วนกลาง หรือ ภูมิภาค อยู่ในบริเวณที่มีความแออัดหรือไม่ เช่นร้านค้า บริเวณบางนา ก็ย่อมมีอัตราเบี้ยประกันถูกกว่าร้านค้าที่อยู่แถวย่านสำเพ็ง หรือเยาวราช เพราะมีความแออัดยัดเยียดมากกว่า

4. สภาพแวดล้อม ว่าเป็นภัยเดี่ยว หรือ ภัยไม่โดดเดี่ยว คือต้องพิจารณาต่อว่าสิ่งปลูกสร้างที่จะทำประกันนั้นอยู่ชิดติดกับสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ หรือไม่ คือระยะห่างทั้ง 4 ด้าน ห่างเกินกว่าอาคารข้างๆ ด้านละ 10 เมตร ถ้าห่างน้อยกว่าหรือติดชิดกับอาคารสถานที่อื่นก็ต้องมีการบวก Surcharge 0.02 เพราะถือว่าความเสี่ยงอาจมีต้นเหตุมาจากอาคารที่ติดกันได้

5. ภัยเพิ่มต่างๆ หลังจากนั้นก็พิจารณาว่าต้องการซื้อภัยเพิ่มอะไรบ้างเพื่อให้เหมาะกับสถานที่ตั้งหรือประเภทธุรกิจของเรา เช่นถ้าเป็นร้านค้าในอาคารที่เป็นศูนย์การค้าหรือเป็นพลาซ่า ก็อาจมีการซื้อภัยเนื่องจากน้ำ เพราะมีความเสี่ยงที่น้ำในท่อภายในอาคารอาจรั่วไหลมาทำให้ทรัพย์สินเราเสียหายได้ โดยภัยเพิ่มก็จะมีอัตราตั้งแต่ 0.005 – 0.01 ขึ้นอยู่กับว่าเป็นภัยใด

ในส่วนของการลดเบี้ยประกันให้ต่ำลงก็สามารถทำได้ ในกรณีที่เรามีการติดอุปกรณ์ดับเพลิง เช่นมีหัวฉีดดับเพลิง มีการต่อท่อน้ำทั่วสถานที่ หรือแม้กระทั่งมีหัวดับเพลิงแบบ Sprinkler ก็จะมีส่วนลดอุปกรณ์ดับเพลิงให้ ตั้งแต่ 10 – 25% ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดับเพลิงที่เราติดตั้ง นอกจากนั้นก็ยังมัส่วนลดการทำประกันระยะยาวหรือ Long Term ด้วย