ประเภทของทรัพย์สินที่ประกัน

ประเภทของทรัพย์สินที่ประกัน สิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สิน สต็อก เครื่องจักร

การประกันอัคคีภัย การประกันบ้าน การประกันไฟไหม้บ้านนั้น ต้องมีความชัดเจนในการแยกหมวดหมู่ของทรัพย์สินที่นำมาทำประกัน คำจำกัดความที่อยู่ในกรมธรรม์ต้องครอบคลุม ทรัพย์สินในหมวดนั้นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะส่งผลโดยตรงตอนที่มีการเคลม ถ้าไม่มีการระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทประกันอาจปฎิเสธ การจ่ายได้ ดังนั้นผู้ที่รับงานประกันประเภทนี้ จะต้องมีความรู้ ความชำนาญ โดยเฉพาะ หลายครั้งที่ผมเห็นหน้าตารางกรมธรรม์อัคคีภัย ของลูกค้า ที่รับงานโดยธนาคาร หรือ ตัวแทนประกันชีวิต จะบอกได้ทันทีเลยว่าลูกค้ามีความเสี่ยงมากถ้าเกิดเหตุขึ้น

โดยหมวดของทรัพย์สินที่สามารถทำประกันได้ จะแยกเป็น

1. สิ่งปลูกสร้าง หรือตัวอาคาร ซึ่งจะหมายถึงตัวอาคารที่เป็นปูน เป็นไม้ เป็น คอนกรีต หลังคา โครงหลังคา รวมไปถึงส่วนต่อเติมอาคาร โรงรถ โดยไม่รวมไปถึงรากฐาน อาจระบุรวมถัง รั้ว กำแพง และประตูบ้าน

2. เฟอร์นิเจอร์ หมายถึง ตัวทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคาร ซึ่งมีทั้งเป็นแบบที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่นการเดินสายไฟ ประตู หน้าต่าง วงกบ หรือที่เรียกว่าสิ่งติดตั้งตรึงตรา และ เฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า และทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งหมายรวมถึงอุปกรณ์ในการประกอบการต่างๆ และ ระบบสาธรณูปโภคด้วย

3. เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานผลิตสินค้า หรือโรงงานต่างๆ ที่ต้องใช้เครื่องจักรในการประกอบการ ซึ่งก็รวมถึง เครนยกของ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักร และอุปกรณ์ส่วนควบของเครื่องจักรนั้นๆ ด้วย

4. สต็อกสินค้า ก็จะมีตั้งแต่วัตถุดิบ สินค้าระหว่างการผลิต สินค้าสำเร็จรูป รวมไปถึงภาชนะบรรจุภัณฑ์ ที่ใช้ในการบรรจุสินค้าด้วย

5. รายการอื่นๆ ที่อาจต้องระบุแยกต่างหาก เช่น สต็อกน้ำมันที่เก็บอยู่ในถังใต้ดิน, Boiler , ลิฟท์ และ อื่นๆ

โดยถ้าเป็นการประกันบ้าน หรือประกันไฟไหม้บ้าน ก็จะมีเพียง สิ่งปลูกสร้างและ เฟอร์นิเจอร์ ในกรณีที่คุณต้องการให้เบี้ยประกันบ้านราคาถูกๆ มากๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นร้านค้า แต่บอกบริษัทประกันว่าเป็นบ้านพัก เพราะต้องการเบี้ยประกันราคาถูก เมื่อเกิดเหตุ ประการแรกเลย สต็อกสินค้าของคุณจะไม่ได้รับความคุ้มครองทันที และ บริษัทประกันอาจปฎิเสธความรับผิดได้ด้วย เนื่องจากผู้เอาประกันแจ้งลักษณะการใช้งานผิด ซึ่ีงขัดกับหลักกฎหมายประกันภัยในเรื่องความสุจริตอย่างยิ่งครับ