ถูกรถยนต์ชนท้าย แต่ต้องไปจ่ายค่าซ่อมให้คันหน้า จนต้องเป็นหนี้ อย่างงี้ก็ได้เหรอ

ถูกรถยนต์ชนท้าย

เรื่องมีอยู่ว่า กลางดึกเวลาประมาณ เที่ยงคืนในขณะที่ นายนรินทร์ จอดรถติดไฟแดงอยู่เป็นคันที่ 2 เขาก็หยิบมือถือขึ้นมาสอดส่อง Facebook ตามสไตล์นาย Social ปรากฏว่ามีเสียงดังโครม เกิดขึ้นที่ท้ายรถของเขา จนตัวเขากระเด็นไปข้างหน้าและสะบัดกลับอย่างรุนแรงเนื่องจาก รถของเขาได้กระดอนไปชนเข้ากับรถคันหน้าอย่างจัง เคราะห์ดีที่ยังรัดเข็มขัดนิรภัยจึงทำให้ ศีรษะไม่กระแทกเข้ากับคอนโซลรถของตนเอง

ภายใต้ความอลหม่านและสับสน ปรากฏว่าตัวร้ายของเรื่องคือคันหลังที่ชน ได้ฉวยโอกาสขับรถหนีออกไป โดยไม่มีใครได้ทันสังเกตเลขทะเบียนของรถคันนั้น

เมื่อควบคุมสติได้ รถคู่กรณีทั้ง 2 คัน ก็ลงจากรถเพื่อมาดูความเสียหาย รถของนรินทร์เสียหายส่วนท้าย ทั้งในส่วนของกันชนท้าย และบังโคลนหลังทั้ง 2 ข้าง ส่วนด้านหน้ากันชนและไฟหน้า แตกละเอียดติดกับกันชนหลังของคันหน้า ซึ่งเป็นรถ Vios ป้ายแดง รวมความเสียหายของรถเขาเองไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

หลังเกิดเหตุ นรินทร์โทรหาประกันภัยโดยทันที แจ้งถึงสาเหตุของความเสียหาย เสียงปลายสายตอบกลับมาว่า รถของเขาประกันชั้น 3 และในกรณีนี้นายนรินทร์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ทางประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบและไม่มีหน้าที่ต้องออกสำรวจความเสียหาย

ในขณะที่นรินทร์ กำลัง งง ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เจ้าของรถคันหน้าก็เดินมาหาเขา แล้วบอกว่า VIOS คันนี้ไม่ได้ทำประกันพร้อม กับถามนรินทร์ว่า “ จะรับผิดชอบอย่างไร”  มันเป็นคำถามที่ทำให้เขา งง หนัก ขึ้นเป็น 2 เท่า …  สุดท้าย คู่กรณีทั้งสองก็ย้ายไปเจรจากันที่สถานีตำรวจในพื้นที่

ก็ไม่รู้ว่าเพราะแรงกระแทกของอุบัติเหตุ หรือ เพราะเหตุการณ์ที่ถูกลากยาวจนเกือบถึงตีสาม สุดท้ายผลสรุปก็ทำให้นรินทร์ งง อีกครั้ง เป็นการงง ระดับรุนแรง เพราะในบันทึกประจำวันของตำรวจลงว่า “ รถทั้ง 2 คัน ถูกรถคันอื่นชนแล้วหนี ไม่สามารถบอกเลขทะเบียนผู้กระทำผิดได้ โดยเจ้าของรถคันที่ 2 ( รถของนรินทร์ ) ตกลงชดใช้ความเสียหายให้กับรถคันแรก “  ประเมินค่าเสียหายของคู่กรณีคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

ประเด็นคือ รถเราถูกรถคันอื่นชนเสียหายแล้วหนี แต่เราต้องมาชดใช้ความเสียหายให้อีกคัน อย่างนี้ถูกต้องหรือ ?

สิ่งที่น่าสนใจคือ

  1. ในกรณีนี้ประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบหรือ ?

ในกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ว่าคุณประกันชั้นใดก็ตาม จะมีความคุ้มครองส่วนหนึ่งที่เรียกว่า หมวดความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งทำให้บริษัทประกันต้องมาชดใช้ค่าเสียหายให้คู่กรณี เมื่อคุณไปทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย แต่มันมีเงื่อนไขที่สำคัญอยู่หนึ่งข้อคือ ในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ขับขี่ของรถที่ทำประกันภัยจะต้องมีความรับผิดตามกฎหมายด้วย ว่ากันง่ายๆ คือ บริษัทประกันภัยจะชำระค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีก็ต่อเมื่อคนขับรถคันที่ทำประกันต้องเป็นฝ่ายผิดนั้นเอง มันจึงนำมาซึ่งอีกประเด็นว่า

2.ในกรณีนี้นรินทร์ เป็นฝ่ายผิดไหม?????

จะว่าไปแล้วกฎหมายที่ใกล้เคียงสุดที่จะมาใช้ตัดสินความถูกผิดในข้อนี้ ก็คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

  • ทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์
  • ทรัพย์นั้นผู้อื่นเป็นเจ้าของหรือเจ้าของร่วม
  • เป็นการกระทำโดยเจตนา

เทียบเคียงกับกรณีนี้ คือเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่บุคคลอื่นเป็นเจ้าของ ( VIOS คันหน้า ) แต่เป็นการกระทำที่มิได้เกิดจากเจตนา เนื่องจากเป็นแรงกระแทกที่เป็นผลต่อเนื่องมากจากการชนของรถคันหลังที่หลบหนีไป *** ดังนั้นคำตอบในประเด็นนี้คือ นรินทร์ไม่มีความผิด และก็ย้อนกลับไปตอบคำถามข้อแรกคือ บริษัทประกันไม่ต้องชดใช้ความเสียหายให้กับคู่กรณี เนื่องจากผู้ขับขี่ของรถคันที่เอาประกันภัยไม่ได้กระทำผิดตามกฎหมาย ***

      3.ประเด็นต่อมาก็คือ ในเมื่อบริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิด แล้ว นรินทร์เจ้าของรถต้องรับผิดชอบไหม ?????

เนื่องจากในกรณีเป็นเรื่องของการชดใช้ค่าเสียหายในทรัพย์สิน จึงต้องอิงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 ว่าด้วยเรื่องละเมิด … ปพพ.มาตรา 420  “ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ”

ต่อมาเรามาดูองค์ประกอบละเอียดทีละข้อกัน

  • กระทำโดยจงใจ หรือ ประมาทเลินเล่อ
  • ต่อบุคคลอื่น
  • โดยผิดกฎหมาย
  • มีผลต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิ์ฯ
  • ท่านว่าผู้นั้นกระทำละเมิดและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ในกรณีนี้แน่นอน ไม่ได้กระทำโดยจงใจ แล้วถามว่าประมาทเลินเล่อไหม ? ถ้าตามความรู้สึกก็ไม่น่าที่จะเข้าข่ายประมาท แต่ไหนๆ ก็ใช้กฎหมายจับมาตั้งแต่ต้นแล้ว มาดูกันอีกทีละกันว่า ประมาทเขาดูกันอย่างไร ในทางกฎหมาย

ปอ.มาตรา 59 วรรค 4 กล่าวว่า “ กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ”

ข้อความที่เป็นหัวใจ มันอยู่ที่ว่า ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้น ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอหรือไม่ ……. อธิบายง่ายๆ ก็คือ ในสถานการณ์เดียวที่เกิดขึ้นกับนรินทร์นั้น  ถ้าคน 100 คน มาเจอ เขาสามารถใช้ความระมัดระวังจนทำให้ รถ ViOS ที่จอดอยู่ด้านหน้า ไม่เสียหายได้หรือไม่  ถ้าไม่ได้ก็เทียบเคียงได้ว่ามิใช่ความประมาท ก็คงเห็นได้ชัดว่าไม่ว่าใครมาเจอเหตุการณ์เดียวกันกับนรินทร์ ก็มีผลไม่ต่างกัน ในกรณีจึงมิน่าที่จะใช้คำว่าประมาทได้

ดังนั้นคำตอบท้ายสุดในกรณีนี้คือ นรินทร์ ไม่จำเป็นต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่เจ้าของรถ VIOS คันหน้า จากเหตุผลทั้งหมดที่อธิบายข้างต้น

แถมประเด็นที่น่าสนใจ อีก 2 ประเด็น ให้คิดกันเล่นๆ คือ 1. ตำรวจลงบันทึกประจำวันอย่างนี้ผิดหรือไม่ 

และ 2. นรินทร์ ควรจะต้องทำอย่างไร เพื่อจะไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้คันหน้า ตามที่บันทึกประวันวันได้ลง ??????

สนใจทำประกันรถยนต์ สามารถติดต่อเราได้ เพราะเรามีประสบการณ์โดยตรงในการประกันภัย เราสามารถให้คำปรึกษา บริการ และให้คำแนะนำได้

TEL : 02-848-9858-9 , Mobile 083-246-3599 , Line@ @k.strong ,

Email : [email protected]