เหตุผลดีๆ ที่คนเราต้องทำประกันภัย

เรื่องเล่าจาก สน.ตอนที่ 1

เรื่องเล่าจาก สน.

เป็นเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้น ในขณะที่อาจารย์สาวมหาลัยเอกชนชื่อดัง ท่านหนึ่งกำลังขับรถกลับบ้าน ช่วงเย็นวันศุกร์

ทันใดนั้นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น !!!!

มีชายหนุ่มวัยสามสิบต้นๆ ขับรถมาชนอย่างแรง จน Airbag รถของ อจ.สาวเปิดและส่งผลให้ อจ.สาว ได้รับบาดเจ็บ เมื่อตั้งสติได้ อจ.สาวจึงเดินลงมาจากรถ

สภาพรถที่ด้านหน้า พังยับเยิน ไม่สามารถขับต่อได้ ตามรูปภาพจากหน้าปกของเรื่องนี้ ..

ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างเรียกประกันของตน และรอ เจ้าหน้าที่เคลมมา ซึ่งระหว่างนั้น อาจารย์สาวก็ยังมีอาการเจ็บที่ศรีษะ และมึนหัว

เมื่อประกันของคู่กรณีมาถึง ก็เดินไปสอบถามรายละเอียดคู่กรณี แล้วจึงเดินมาหาอาจารย์สาว…

พนง.เคลมเอ่ย .. “คุณผู้หญิงครับ ทางฝ่ายผมรับผิดนะครับ เดี๋ยวออกใบเคลมให้เลย….”

ประเด็น : จริงๆ แล้ว เหมือนจะดี … ทุกอย่างน่าจะจบลงแบบง่ายๆ แต่เดี๋ยวก่อน !!!  อย่าลืมสิ ว่า อาจารย์มีอาการบาดเจ็บอยู่น๊า ถ้ารับใบเคลมแล้วแยกกันไปเลย เกิดคืนนี้อาจารย์ปวดหัวหรือมีอาการอื่นๆ ตามมา จะทำอย่างไร ?

สิ่งที่ควรทำ : อาจารย์ๆ อย่าเพิ่งเจรจา ตกลงใดๆ ทั้งสิ้นครับ ควรแจ้งตำรวจสถานีพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ทำการบันทึกเหตุการณ์เบื้องต้น และ เดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายครับ เคสอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บ จะเป็นคดีอาญาครับ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ต้องเข้ามาดูแล ซึ่งในเคสนี้ เราเป็นฝ่ายถูก รถเสียหายเยอะและมีอาการบาดเจ็บ จะต้องมีการเรียกร้องค่าเสียหายหลายอย่าง การมีตำรวจเป็นคนกลาง จะทำให้เราเรียกร้องได้ยุติธรรมขึ้น

หลังจากอาจารย์ ไปหาหมอตรวจเช็คอาการที่โรงพยาบาลเสร็จ ก็เดินทางไป สถานีตำรวจ เพื่อพบกับ ร้อยเวร และ คู่กรณี

ร้อยเวร : “ ทางคู่กรณี ยอมรับว่าผิด และประกันยินดีจ่ายค่าซ่อมรถให้ ตกลงผมบันทึกปิดเรื่องและ ปรับคู่กรณีเลยนะครับ ..”

อาจารย์สาว : “แต่หนู บาดเจ็บนะคะ รถก็เสียหายเยอะ ใช้เวลาซ่อมนานแน่ๆ ระหว่างไม่มีรถใช้ หนูจะทำอย่างไรคะ “

ร้อยเวร : “ เรื่องค่าเสียหาย คุณไปตกลงกับประกันได้ภายหลัง เขายอมรับผิดแล้วหนิ ถ้าคุณไม่จบ รถต้องตรวจสภาพนะ คุณต้องเสียค่าตรวจสภาพ ถ้าจบ วันนี้เอารถออกไปซ่อมได้เลย “

อาจารย์สาว : ยังสับสน กับสิ่งที่ร้อยเวรพูด ว่าควรทำตามหรือไม่  และต้องการที่ปรึกษา

ประเด็น : รถของเราที่เสียหายมิใช่ประเด็น เพราะสามารถจัดซ่อมกับบริษัทประกันภัยรถของอาจารย์ได้

แต่ประเด็นหลักจริงๆ อยู่ที่ตรงนี้

  1. อาการเจ็บของ อาจารย์แน่ใจแล้วหรือ ว่าเป็นปกติ นี่เหตุการณ์พึ่งผ่านไปได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมงเลยน๊า จะรอดูอาการก่อนดีไหม เพราะถ้าโชคร้ายเป็นอะไรร้ายแรง จะมีผลต่อเนื่องกับค่าสินไหมที่เราจะเรียกร้อง ค่ารักษา ค่าสินไหมในช่วงที่อาจารย์ทำงานไม่ได้
  2. ค่าขาดประโยชน์การใช้รถ ในช่วงที่รถเข้าซ่อม แน่ใจหรือว่าประกันฝ่ายคู่กรณี จะจ่ายให้กับเราเต็มจำนวน
  3. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีก ที่อาจารย์ยังไม่รู้

สิ่งที่ควรทำยังไม่ต้องรีบร้อนปิดเรื่องครับ วันนี้แค่บันทึกคร่าวๆ ไว้ก่อน ว่าคู่กรณีคือใครบ้าง รถยนต์เลขทะเบียนอะไรบ้าง ลักษณะการเกิดเหตุอย่างไร และใครผิด ใครถูก แล้วต่อท้ายว่า ผู้เสียหายขอดูอาการที่บาดเจ็บเบื้องต้น โดยนัดหมายจะมาเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง

ประโยชน์คือ

  1. ได้กลับไปดูอาการบาดเจ็บให้แน่ใจว่าไม่เป็นอะไรมาก และ หายเป็นปกติแน่นอน
  2. มีเวลากลับไปทบทวนว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับเรามีอะไรบ้างที่ต้องไปเรียกร้องกับฝั่งคู่กรณี
  3. กลับไปปรึกษาผู้รู้ว่าบันทึกประจำวันตอนจบเรื่อง ควรลงข้อความอย่างไร เพื่อให้สามารถไปเรียกร้องกับคู่กรณีได้อย่างครบถ้วน
  4. ยังสามารถใช้ความได้เปรียบทางคดีอาญา ในการต่อรองคู่กรณีเพื่อเรียกร้องสิ่งที่เราต้องเสียไปได้

สรุปสุดท้ายในวันนั้น เคสของอาจารย์สาวจึงจบลงด้วยการลงบันทึกประจำวันเบื้องต้น โดยมีการนัดหมายอีกครั้ง 2 วันข้างหน้า ซึ่งอยากจะบอกว่าเหตุการณ์ในการนัดหมายครั้งที่ 2 นั้นก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร มาติดตามกันต่อครั้งหน้า …