ความมั่งคงของบริษัทประกันภัย สำคัญที่สุดในการเลือกซื้อกรมธรรม์

20-2

พาดหัวข่าว ข้างต้น เป็นพาดหัวจาก เว็บไซต์ ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ลงวันที่ 1 กันยายน 2558 เนื่อง ด้วย บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด นี่คือตัวอย่างหนึ่ง ที่บ่งบอกว่าการซื้อหากรมธรรม์ประกันภัยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย และจากข่าวนี้เราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ถึงหลายประเด็น คือ

1. นี่คือบทบาทและหน้าที่หนึ่ง ที่สำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ. ) ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทและจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะการกำกับดูแลบริษัทประกันภัย และตัวแทนนายหน้า ดังนั้นการประกอบธุรกิจแบบเดิมๆ ที่ไม่โปร่งใส หรือ ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเคลมประกันภัยที่ไม่เข้าตามเงื่อนไขของกรมธรรม์จะเป็นได้ยากขึ้นและหมดไป
2. การลงดาบ ของ คปภ.ในครั้งนี้ ในทางประกันภัยถือว่าเป็นการให้ใบเหลือง คือสั่งให้หยุดรับการประกันใหม่ หมายความว่า บริษัทยังคงดำเนินการได้ตามปกติแต่ไม่สามารถออกกรมธรรม์ฉบับใหม่ขายให้แก้ผู้เอาประกันภัยได้ ซึ่งหมายความว่าบริษัทกมลประกันภัย ฯ จะไม่มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าสู่บริษัทเลย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงดำเนินต่อไป วิธีการแก้ไข คือต้องหาทางเพิ่มทุนให้ได้ ไม่ว่าจากแหล่งใดก็ตาม ( เบื้องต้น คปภ.กำหนดว่าต้องเพิ่มทุน 100 ล้านบาท ) และถ้าไม่สามารถทำตามได้ตามระยะเวลาที่ คปภ.กำหนด สิ่งที่จะตามมาก็คือใบแดง คือถูกสั่งให้ปิดกิจการ
3. เงินกองทุนที่กฎหมายกำหนด ตามข่าวมีหลายตัวเลข แต่ตัวเลขที่ง่ายที่สุด ที่ประชาชนทั่วไปสามารถดูได้ง่ายก้คือ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุน ทีต้องดํารงตามกฎหมาย ( Car Ratio ) ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าตัวเลขดังกล่าวต้องเกิน 140 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลทั้งหมดเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ดีที่สุด ควรเริ่มต้นจากการหาข้อมูลว่า บริษัทประกันภัยนั้นๆ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงหรือไม่ เพราะเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหมบริษัทก็สามารถจ่ายค่าสินไหมนั้นๆ แต่ถ้าเราเลือกเบี้ยประกันที่ถูกโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ ท้ายที่สุดแล้วกรมธรรม์ที่ถือนั้นอาจแปลงสภาพกลายเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://www.oic.or.th/th/news/detail.php?ID=4697&key=information

Credit ภาพถ่าย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ. )